สัญญาตกเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนข้าวสาลีขาว 85.03 เมตริกตัน แก่โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหาย 481,093.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 470,315.31 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2548 บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด และจำเลยสั่งซื้อสินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทเบตเตอร์เวสเทอร์นไวท์เทกองโปรตีน 10.5 เปอร์เซ็นต์ ฝ่ายละ 4,400 เมตริกตัน จากบริษัทโตเมน อเมริกา อินซ์ จำกัด ซึ่งผู้ขายได้จัดส่งสินค้าดังกล่าวแก่ผู้ซื้อด้วยวิธีการขนส่งสินค้าทางทะเล โดยเรือซากาเซียอุสหรือซากาเซียส ไนกี้ สินค้าดังกล่าวของทั้งสองฝ่ายได้บรรทุกอยู่ในช่องระวางหมายเลข 5 มีแผ่นพลาสติกทอปูกั้นสินค้าของแต่ละฝ่ายไว้ สินค้าของบริษัทบางกอก ฟลาวมิลล์ จำกัด อยู่ด้านบน ส่วนสินค้าของจำเลยอยู่ด้านล่าง ครั้นเรือแล่นมาถึงเกาะสีชัง บริษัทบางกอก ฟลาวมิลล์ จำกัด และจำเลยได้ว่าจ้างบริษัทอินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด ให้เป็นผู้สำรวจและควบคุมการขนถ่ายสินค้าของแต่ละฝ่าย ส่วนการขนถ่ายสินค้านั้นบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ว่าจ้างบริษัทแจน ยู.อาร์. ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงเพื่อขนส่งต่อไปยังท่าเรือเกษตรรุ่งเรือง ตำบลสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างการขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียง มือจับเหล็กหรือก้ามปูซึ่งเป็นอุปกรณ์ในการขนถ่ายของบริษัทแจน ยู.อาร์. ทรานสปอร์ต จำกัด เกี่ยวถูกแผ่นพลาสติกที่ใช้กั้นสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด กับจำเลยขาดบางส่วน เป็นเหตุให้สินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด รั่วไหลลงไปปะปนกับสินค้าของจำเลยที่อยู่ด้านล่าง หลังจากนั้น นายเรือซากาเซียส ไนกี้ ไม่อนุญาตให้บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ขนถ่ายสินค้าส่วนของตนอีก ส่วนสินค้าที่เหลือให้จำเลยขนถ่ายไปได้ โดยในขณะนั้นไม่มีฝ่ายใดนำสินค้าของตนไปชั่งน้ำหนักเพื่อตรวจสอบปริมาณสินค้าที่แท้จริง ภายหลังจากเรือลำเลียงบรรทุกสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด แล่นมาถึงท่าเรือเกษตรรุ่งเรืองแล้ว ได้ทำการชั่งน้ำหนักสินค้าพบว่า สินค้าข้าวสาลีขาวของบริษัท บางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด มีปริมาณเพียง 4,314.97 เมตริกตัน ขาดไปจากปริมาณที่ระบุไว้ในใบตราส่ง 85.03 เมตริกตัน ส่วนสินค้าชนิดเดียวกันของจำเลยเมื่อชั่งน้ำหนักที่ท่าเรือปลายทางของตนแล้วพบว่า สินค้ามีปริมาณ 4,460.24 เมตริกตัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณที่ระบุไว้ในใบตราส่ง 60.24 เมตริกตัน บริษัทอินเตอร์เทคเทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด ทำรายงานการสำรวจและควบคุมการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวไว้
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยต้องคืนสินค้าข้าวสาลีขาวพิพาท 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์ในฐานลาภมิควรได้หรือไม่ โจทก์มีนายปฐมพงศ์ เจ้าหน้าที่พิจารณาสินไหมทดแทนของโจทก์เบิกความว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ในวงเงิน 32,164,907.67 บาท หรือ 706,983.20 ดอลลาร์สหรัฐ สินค้าดังกล่าวบรรทุกมากับเรือซากาเซียส ไนกี้ จากเมืองแวนคูเวอร์ มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ในช่องระวางหมายเลข 5 ด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นสินค้าชนิดเดียวกับของจำเลย โดยมีแผ่นพลาสติกคั่นระหว่างสินค้าของทั้งสองฝ่าย แต่ขณะขนถ่ายสินค้าลงเรือลำเลียงที่เกาะสีชัง คนงานซึ่งบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ว่าจ้างให้ขนถ่ายสินค้าได้ทำแผ่นพลาสติกดังกล่าวขาดบางส่วน ทำให้สินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด รั่วไหลลงไปปะปนกับสินค้าของจำเลยที่อยู่ด้านล่าง นายเรือซากาเซียส ไนกี้ จึงห้ามมิให้บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ขนถ่ายสินค้าอีก ครั้นเรือลำเลียงบรรทุกสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ถึงท่าเรือเกษตรรุ่งเรือง จังหวัดสมุทรปราการ มีการนำสินค้าไปชั่งน้ำหนัก ปรากฏว่าสินค้าข้าวสาลีขาวของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด มีน้ำหนักเพียง 4,314.970 เมตริกตัน ขาดจำนวนไปจากที่ระบุไว้ในใบตราส่งถึง 85.03 เมตริกตัน ส่วนสินค้าของจำเลยเมื่อชั่งน้ำหนักแล้วกลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากใบตราส่งถึง 60.24 เมตริกตัน สินค้าที่เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นสินค้าส่วนหนึ่งของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ที่ขาดหายไปและเป็นลาภมิควรได้ที่จำเลยจะต้องคืนให้แก่บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด โจทก์เห็นว่าสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด สูญหายไปจริง 85.03 เมตริกตัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2549 โจทก์จึงชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด โดยคิดคำนวณหักความเสียหายส่วนแรกร้อยละ 0.5 ของน้ำหนักสินค้าที่เอาประกันภัยไว้ตามกรมธรรม์หรือเท่ากับ 22 เมตริกตัน ออกโดยชดใช้ให้เพียง 65.03 เมตริกตัน เป็นเงิน 475,382.96 บาท กับมีนายชวการ ผู้จัดการแผนกสินค้าของบริษัทอินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด เบิกความว่า บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ว่าจ้างให้บริษัทอินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด สำรวจและควบคุมการขนถ่ายสินค้าพิพาท โดยวันเกิดเหตุพยานมอบหมายให้นายสมเกียรติ เป็นผู้สำรวจและควบคุมการขนถ่ายสินค้า ขณะที่ขนถ่ายสินค้าจนใกล้จะถึงแผ่นพลาสติกที่กั้นสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด กับจำเลย พนักงานของบริษัทอินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ไทยแลนด์) จำกัด แนะนำคนงานขนถ่ายว่าไม่ให้ใช้ก้ามปูเหล็กและรถแทรกเตอร์เป็นอุปกรณ์ในการขนถ่ายสินค้าเพราะอาจทำให้แผ่นพลาสติกฉีกขาดได้ แต่คนงานยังคงใช้อุปกรณ์ดังกล่าวขนถ่ายสินค้าต่อไป ทำให้ก้ามปูเหล็กเกี่ยวถูกแผ่นพลาสติกขาดหลายช่องและสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ที่เหลือปะปนไปกับสินค้าของจำเลย การขนถ่ายสินค้าส่วนที่เหลือของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด จึงกะประมาณกันเอาเอง โดยถือแนวแผ่นพลาสติกที่ยังคงเหลืออยู่เป็นประมาณ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า สินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทที่บรรทุกในระวางเรือหมายเลข 5 มีเพียงสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด กับของจำเลย และตามใบตราส่งก็ระบุว่าสินค้าของแต่ละฝ่ายมีน้ำหนัก 4,400 เมตริกตัน เท่ากัน และการฉีกขาดของแผ่นพลาสติกที่คั่นสินค้าแต่ละฝ่ายเกิดขึ้นในขณะที่ยังขนถ่ายสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ออกจากระวางเรือไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยขนถ่ายสินค้าส่วนที่เหลือในระวางเรือไปทั้งหมด และจำเลยได้รับสินค้าเกินกว่าที่ระบุในใบตราส่งไป 60.24 เมตริกตัน เชื่อว่าสินค้าของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ได้ปะปนไปกับสินค้าที่จำเลยได้รับไป พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้มาซึ่งสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน ของบริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด เสียเปรียบ บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวได้ในฐานเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการสูญหายของสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องคืนสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า หากคืนสินค้าข้าวสาลีขาวให้แก่โจทก์ไม่ได้จำเลยต้องใช้ราคาเพียงใด ซึ่งปัญหานี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความได้สืบพยานกันมาจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยก่อน เห็นว่า แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทบางกอกฟลาวมิลล์ จำกัด ไปเป็นเงิน 470,315.31 บาท ก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ได้คิดคำนวณราคาจากสินค้าที่สูญหายไป 65.03 เมตริกตัน เมื่อจำเลยได้รับสินค้าของบริษัทบางกอก ฟลาวมิลล์ จำกัด ไว้เพียง 60.24 เมตริกตัน หากจำเลยไม่สามารถคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ราคาแทนโดยคำนวณราคาจากสินค้า 60.24 เมตริกตัน เท่านั้น ซึ่งได้ความจากทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยไม่นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่าสินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทมีราคาเมตริกตันละ 161 ดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากจำเลยไม่อาจคืนสินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยต้องใช้ราคาแทนเป็นเงิน 9,698.64 ดอลลาร์สหรัฐ
มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในกรณีที่ต้องมีการใช้ราคาแทนหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่จำเลยรับสินค้ามีการขนถ่ายขึ้นจากเรือซากาเซียส ไนกี้ ลงเรือลำเลียง ยังไม่มีการตรวจสอบปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า อันถือได้ว่า จำเลยได้รับสินค้าพิพาทไว้โดยสุจริต และการครอบครองสินค้าพิพาทของจำเลยก่อนมีการทวงถามให้คืนเป็นไปโดยสุจริตตลอดมา แต่เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าโดยอ้างสิทธิเหนือสินค้าพิพาทแล้ว จำเลยจึงตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนด 7 วัน ที่จำเลยต้องคืนสินค้าในวันที่ 5 มิถุนายน 2549 แล้วจำเลยยังเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549
พิพากษากลับ ให้จำเลยคืนสินค้าข้าวสาลีขาวพิพาท 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 9,698.64 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จและหากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทย ให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ที่ขายให้แก่ลูกค้าในวันที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันดังกล่าวให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นนั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถือว่าอัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ ทั้งนี้ สำหรับดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (วันที่ 12 กรกฎาคม 2549) ต้องไม่เกิน 10,778.21 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท
สรุป
สินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทที่บรรทุกในระวางเรือหมายเลข 5 มีเพียงสินค้าของบริษัท บ. กับของจำเลย โดยมีแผ่นพลาสติกทอปูกั้นสินค้าของแต่ละฝ่ายไว้ สินค้าของบริษัท บ. อยู่ด้านบน ส่วนสินค้าของจำเลยอยู่ด้านล่าง ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าของแต่ละฝ่ายมีน้ำหนัก 4,400 เมตริกตัน เท่ากัน และการฉีกขาดของแผ่นพลาสติกเกิดขึ้นในขณะที่ยังขนถ่ายสินค้าของบริษัท บ. ออกจากระวางเรือไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยขนถ่ายสินค้าส่วนที่เหลือในระวางเรือไปทั้งหมด และจำเลยได้รับสินค้าเกินกว่าที่ระบุในใบตราส่งไป 60.24 เมตริกตัน เชื่อว่าสินค้าของบริษัท บ. ได้ปะปนไปกับสินค้าที่จำเลยได้รับไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้มาซึ่งสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน ของบริษัท บ. โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บริษัท บ. เสียเปรียบ บริษัท บ. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวได้ในฐานะเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการสูญหายของสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท บ. ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องคืนสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์
แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท บ. ไปเป็นเงิน 470,315.31 บาท ก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ได้คิดคำนวณราคาจากสินค้าที่สูญหายไป 65.03 เมตริกตัน เมื่อจำเลยได้รับสินค้าของบริษัท บ. ไว้เพียง 60.24 เมตริกตัน หากจำเลยไม่สามารถคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ราคาแทนโดยคำนวณราคาจากสินค้า 60.24 เมตริกตัน เท่านั้น ขณะที่จำเลยรับสินค้ามีการขนถ่ายขึ้นจากเรือ ซ. ลงเรือลำเลียง ยังไม่มีการตรวจสอบปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า อันถือได้ว่าจำเลยได้รับสินค้าพิพาทไว้โดยสุจริต และการครอบครองสินค้าพิพาทของจำเลยก่อนมีการทวงถามให้คืนเป็นไปโดยสุจริตตลอดมา แต่เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าโดยอ้างสิทธิเหนือสินค้าพิพาทแล้ว จำเลยจึงตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนด 7 วัน ที่จำเลยต้องคืนสินค้าในวันที่ 5 มิถุนายน 2549 แล้วจำเลยยังเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549