ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเพิ่มเติมรับเหมาก่อสร้าง สัญญามีผลสมบูรณ์หรือไม่

ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาเพิ่มเติมรับเหมาก่อสร้าง สัญญามีผลสมบูรณ์หรือไม่

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 7,767,808.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,982,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ส่งมอบทรัพย์สินและสรรพเอกสารทั้งหมดคืนจำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเสียหาย 11,480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,637,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 4 เมษายน 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้ 100,000 บาท คำขออื่นและฟ้องแย้งให้ยก

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 2,406,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กันยายน 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นในส่วนฟ้องแย้งและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของโครงการก่อสร้างอาคารชุดชื่อ ซิม (SYM) วิภา-ลาดพร้าว เมื่อประมาณเดือนตุลาคม 2554 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้จัดการและประสานงานเพื่อให้ลูกค้าผู้ซื้อห้องชุดของจำเลยตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่ลูกค้ารวม 500 ห้อง ในระหว่างการดำเนินการโจทก์และจำเลยจัดพิมพ์และแก้ไขร่างสัญญาที่ทำขึ้นเกี่ยวกับสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ทำงานดังกล่าวซึ่งสัญญาว่าจ้างระบุให้โจทก์และจำเลยลงชื่อในสัญญาว่าจ้าง โจทก์กล่าวอ้างว่าเข้าทำงานจัดการตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ไปแล้ว และโจทก์ขอเรียกเก็บเงินค่าจ้างตามสัญญาจำเลยชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 500,000 บาท แต่ไม่ชำระค่าจ้างที่เหลือโดยโต้แย้งว่าจำเลยยังมิได้ทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรกับโจทก์ ต่อมาจำเลยชำระเงินให้โจทก์อีก 300,000 บาท ต่อมาไม่ชำระ โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและทวงถามให้จำเลยชำระค่าจ้างที่เหลือ แต่จำเลยไม่ชำระ

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตหรือไม่ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยมิได้หยิบยกปัญหาว่า โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตในการฟ้องร้องจำเลยในคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้จำเลยจะหยิบยกฎีกาข้อนี้ขึ้นมาในชั้นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ชั้นแรกโจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องการทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามเงินค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้าง แต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์แล้วบางส่วน พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้เชื่อได้ว่า โจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลย และจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการงานนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง แต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ทำงานโดยมีเนื้องานเพียงใด และจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าจ้างแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า ในชั้นสืบพยานโจทก์ โจทก์มีนางสาวณัฐกานต์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เบิกความว่า หลังจากจำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำการงาน คือ การประสานงานกับลูกค้าผู้ซื้อห้องชุดในโครงการของจำเลยให้มาตรวจสอบสภาพความสมบูรณ์ของห้อง หากพบความชำรุดบกพร่องหรือความไม่สมบูรณ์ของห้องชุด โจทก์มีหน้าที่ประสานงานให้ผู้ที่ทำงานรับจ้างก่อสร้างมาแก้ไขห้องชุดให้มีความสมบูรณ์ตามแบบของสัญญาจะซื้อขายระหว่างจำเลยกับลูกค้า หลังจากนั้นโจทก์ยังมีหน้าที่ประสานงานในการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดแทนจำเลยโดยโจทก์ต้องเป็นตัวแทนจำเลยในการจดทะเบียนโอนห้องชุดให้เป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้าจนเสร็จ และคิดค่าจ้างตามสัญญา คือ 350 ห้องแรก จำเลยและโจทก์ตกลงค่าจ้างในอัตราห้องละ 30,000 บาท และอีก 150 ห้องที่เหลือจำเลยตกลงจะให้ค่าจ้างในอัตราห้องละ 15,000 บาท ต่อการทำกิจการงานแทนจำเลย ซึ่งโจทก์ได้ดำเนินการตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวกับจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้ว และโจทก์ยังมีการส่งเอกสารและภาพถ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการของโจทก์ที่กระทำแทนจำเลย ดังนั้น โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมานำสืบว่าโจทก์ได้ดำเนินการทำงานให้แก่จำเลยแล้วและเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างอันเป็นสัญญาจ้างทำของอย่างหนึ่ง ส่วนจำเลยนั้นมีนางสาววรนารถ ผู้รับมอบอำนาจจำเลยและนางสาวธนิดา ซึ่งเคยเป็นลูกจ้างของจำเลยต่างเบิกความโต้แย้งในทำนองเดียวกันว่า โจทก์กับจำเลยยังไม่ทำสัญญากันเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิขอรับเงินค่าจ้างและโจทก์ไม่ดำเนินการประสานงานกับลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับโอนห้องชุดของจำเลยโดยไม่ทำหน้าที่ประสานงานให้ลูกค้ามาดูสภาพของห้องว่ามีความชำรุดบกพร่องอย่างไร ทั้งไม่ประสานงานกับฝ่ายก่อสร้างในโครงการอาคารชุดของจำเลยให้มาปรับปรุงแก้ไขห้องชุดให้มีความสมบูรณ์เรียบร้อยตามสัญญา ทั้งโจทก์ยังไม่ดำเนินการทำเอกสารเกี่ยวกับการตรวจรับห้องชุดให้ลูกค้าลงนาม จนทำให้จำเลยต้องให้ลูกจ้างของจำเลยดำเนินงานเอง นอกจากนี้เมื่อจำเลยนัดให้ลูกค้าตรวจข้อบกพร่องภายในห้องชุดฝ่ายจำเลยต้องจัดเตรียมเอกสารเพื่อให้ลูกค้าลงนามเอง ประการต่อไปที่โจทก์ไม่ดำเนินการ คือ ทางฝ่ายจำเลยจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายแบบชุดเครื่องเรือนซึ่งจะต้องมีประจำห้องชุดที่โอนให้ลูกค้าเอง โดยโจทก์ไม่ดำเนินการซึ่งมีลูกค้าบางราย ได้ติดต่อกับจำเลยว่า เมื่อนัดกับโครงการของจำเลยเพื่อมาตรวจความชำรุดบกพร่องและความเรียบร้อยของห้องชุด ฝ่ายโจทก์ก็มิได้ดำเนินการประสานงานเพื่อพาลูกค้าไปตรวจห้องชุดดังกล่าว ดังนั้น ลูกค้าจึงโทรศัพท์มาแจ้งข้อขัดข้องดังกล่าวให้จำเลยทราบ จำเลยจึงทราบว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินการประสานงานและอำนวยความสะดวกกับลูกค้าในขั้นตอนก่อนมีการโอนห้องชุดให้แก่ลูกค้า แต่การเบิกความของจำเลย คงมีแต่พยานบุคคลเข้าสืบ แต่ไม่มีพยานอื่นเช่นลูกค้าที่ไม่ได้รับการติดต่อประสานงานหรือไม่ได้รับบริการจากโจทก์ซึ่งต้องทำตามหน้าที่ที่จำเลยตกลงให้โจทก์ทำหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว ทั้งไม่มีพยานเอกสารหรือภาพถ่ายมาแสดง เช่นนี้ โจทก์จึงมีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมาสืบ ทำให้พยานโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานจำเลย จึงฟังข้อเท็จจริงได้ว่าโจทก์ได้ดำเนินการประสานงานกับลูกค้าในการพาลูกค้าไปตรวจสภาพความบกพร่องของห้องชุดว่ามีมากน้อยเพียงใด กับทั้งมีการประสานงานให้ผู้รับจ้างก่อสร้างมาแก้ไขความบกพร่องของห้องชุดตลอดจนการประสานงานและการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ลูกค้าแทนจำเลย ดังนั้น จำเลยจึงมีความรับผิดจะต้องจ่ายค่าจ้างของการงานที่โจทก์กระทำไปให้แก่โจทก์

สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดในค่าจ้างของการงานที่โจทก์กระทำในการงานตามสัญญาว่าจ้างให้แก่โจทก์นั้น มีเพียงใด ในประเด็นฎีกาข้อนี้ของโจทก์ที่ว่า นอกจากที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยรับผิดชำระค่าจ้างแก่โจทก์เป็นเงิน 2,406,300 บาท นั้น โจทก์ยังไม่พอใจเนื่องจากเห็นว่าโจทก์ได้ทำการงานโดยมีเนื้องานเต็มตามฟ้อง โจทก์ควรได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอีกเป็นค่าจ้างห้องชุดละ 30,000 บาท เต็มตามคำฟ้อง โดยโจทก์โต้แย้งว่า การที่ศาลอุทธรณ์แยกค่าจ้างของโจทก์ออกเป็น 3 งาน คือ งานโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ลูกค้า งานส่งมอบเครื่องเรือนและงานส่งมอบห้องชุดแก่ลูกค้า และแยกการงานดังกล่าวออกโดยศาลอุทธรณ์วินิจฉัยเนื้องานที่พยานโจทก์และจำเลยนำสืบแล้วคงเห็นว่า จำเลยคงต้องรับผิดเพียง 2,000,000 บาท นั้นยังไม่ถูกต้อง ส่วนจำเลยฎีกาว่า ศาลกำหนดค่าจ้างให้แก่โจทก์สูงเกินไป เห็นว่า ในเรื่องนี้แม้นางสาวณัฐกานต์ กรรมการของโจทก์ จะเบิกความว่า โจทก์ทำกิจการงานตรงตามสัญญาว่าจ้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อพยานจำเลยคือผู้รับมอบอำนาจจำเลยเบิกความโต้แย้งในเรื่องการแบ่งการทำงานของโจทก์ออกเป็น 3 ส่วน คือ การเตรียมการโอนห้องชุดด้วยการประสานงานให้ลูกค้าดูสภาพของห้องชุดว่ามีความชำรุดบกพร่องอย่างไร และต้องประสานงานแก้ไขให้ผู้รับจ้างก่อสร้างมาแก้ไขให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามสัญญาจะซื้อขายของลูกค้ากับจำเลย การประสานงานเพื่อให้มีการจัดส่งเครื่องเรือนซึ่งกำหนดในสัญญาจะซื้อขายว่าในห้องชุดนั้นจะต้องมีเครื่องเรือนให้ครบตามสัญญาจะซื้อขาย กับการดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทางทะเบียนซึ่งโจทก์จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและเอกสารสิทธิตลอดจนประสานงานให้ลูกค้าได้รับการจดทะเบียนโอนห้องชุดจึงจะเป็นการงานที่แล้วเสร็จ ซึ่งพยานโจทก์มิได้เบิกความและอธิบายในเรื่องนี้ไว้แต่พยานจำเลยคือผู้รับมอบอำนาจจำเลยและลูกจ้างของจำเลยที่เข้าเบิกความโต้แย้งว่า การกระทำการงานแทนจำเลยของโจทก์ยังมีความบกพร่องและไม่เรียบร้อย ซึ่งในเรื่องนี้เห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในเรื่องการงานของโจทก์ไว้โดยละเอียดว่าการจัดการงานของโจทก์ที่ทำแทนจำเลยตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวนั้น แม้โจทก์จะเบิกความยืนยันว่าได้ทำการงานครบถ้วน แต่จำเลยก็ยังโต้แย้งในเรื่องเนื้องานว่าโจทก์ยังทำงานบกพร่องในการประสานงานทั้ง 3 ขั้นตอนตามข้อต่อสู้ของจำเลยและยังมีลูกค้าโทรศัพท์มาแจ้งว่าฝ่ายโจทก์มิได้ประสานงานกับจำเลยตามขั้นตอนที่ 1 ถึงที่ 3 อยู่ และศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาเนื้องานที่โจทก์กระทำให้จำเลยนั้น เห็นว่า เป็นเนื้องานที่ทำลงไปได้ประมาณหนึ่งในสามจึงกำหนดความรับผิดให้รับผิดต่อโจทก์เมื่อหักค่าจ้างที่ค้างชำระแล้วเป็นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 2,406,300 บาท นั้น นับว่าเป็นการกำหนดค่าจ้างให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์ที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์และจำเลยแล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลกำหนดความรับผิดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์สูงเกินไปนั้นก็ยังมิได้อาจรับฟังได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า โจทก์ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยรับฟังได้ว่า เหตุที่โจทก์ขนย้ายทรัพย์สินและเอกสารการทำงานออกจากสำนักงานของจำเลยไปสืบเนื่องมาจากโจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลยแล้ว จำเลยชำระเพียงบางส่วน จำเลยมีหนังสือขอให้โจทก์ส่งเอกสารคืน โจทก์จึงมีหนังสือให้จำเลยชำระค่าจ้างและบอกเลิกสัญญาจ้างหากจำเลยไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ภายใน 7 วัน กับขอใช้สิทธิยึดหน่วงเอกสารการดำเนินการตามสัญญาให้แก่ลูกค้าของจำเลย เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 587 ขณะเดียวกันก็เป็นสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369 เมื่อจำเลยไม่ชำระค่าจ้างแก่โจทก์ตามกำหนดในหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญา สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นอันเลิกกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ การที่โจทก์ใช้สิทธิยึดหน่วงเอกสารการดำเนินการบริหารการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ลูกค้าของจำเลยที่อยู่ในสำนักงานของจำเลยซึ่งให้โจทก์ใช้เป็นสถานที่ทำงานนั้น ถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองเอกสารและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิยึดหน่วงเอกสารดังกล่าวจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลย ดังนี้ โจทก์ย่อมไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้งจากโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้งมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาในส่วนฟ้องเดิมและฟ้องแย้งให้เป็นพับ

สรุป

โจทก์ร่างสัญญาว่าจ้างให้จำเลยลงลายมือชื่อและจำเลยขอแก้ไขรายละเอียดก่อน แต่จำเลยก็ให้โจทก์เข้าทำงานตามที่ตกลงกันแล้วโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการพูดถึงเงื่อนไขและข้อตกลงในสัญญาที่ยังตกลงในสัญญาที่ยังตกลงกันไม่ได้อีก เหตุที่มีการโต้เถียงเรื่องสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรเกิดจากการที่โจทก์ทวงถามค่าจ้างจากจำเลย จำเลยจึงอ้างระเบียบของจำเลยที่ต้องทำสัญญาว่าจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมาโจทก์และจำเลยก็ไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างแต่โจทก์ก็ยอมรับปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้รับจ้าง ส่วนจำเลยได้ถือเอาประโยชน์จากสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างและมีการชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์บางส่วนแล้ว พฤติการณ์แห่งคดีเช่นนี้ เชื่อได้ว่าโจทก์ตกลงรับจะทำการงานให้แก่จำเลยและจำเลยตกลงให้ค่าจ้างเพื่อการนั้น ทำให้สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์และจำเลยได้เกิดขึ้นแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 587 โดยโจทก์และจำเลยมิได้มุ่งหมายให้สัญญาจ้างทำของพิพาทต้องทำสัญญากันเป็นหนังสือโดยให้คู่สัญญาลงชื่อในสัญญาอีก สัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย หาได้มีกรณีเป็นที่สงสัยว่าสัญญาจะต้องทำเป็นหนังสือตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง

 

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/