การแบ่งแยกความรับผิดในคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การแบ่งแยกความรับผิดในคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2537

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารแอมบาสซาเดอร์คอร์ท เป็นเงินค่าจ้าง 5,500,000 บาทกับตามสัญญาเพิ่มเติมค่าจ้าง 1,100,000 บาท และงานเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาเพิ่มเติม ค่าจ้าง 300,000 บาท โจทก์ลงมือทำงานให้จำเลยตามสัญญาตลอดมาและได้รับค่าจ้างทำของงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4ไปเรียบร้อยแล้ว โจทก์ทำการก่อสร้างต่อจนเสร็จ งานงวดที่ 5ตามสัญญาเดิมและงานงวดที่ 2 ตามสัญญาเพิ่มเติม กับได้ทำงานเก็บเพื่อความเรียบร้อยตามการทำงานในงวดที่ 6 ตามสัญญาเดิมและงวดที่ 3ตามสัญญาเพิ่มเติมไปเกือบเสร็จงาน คงเหลืองานค้างประมาณร้อยละห้าเท่านั้น โจทก์ทำหนังสือขอเบิกเงินงวดที่ 5 ตามสัญญาเดิมและขอเบิกเงินงวดที่ 2 ตามสัญญาเพิ่มเติม แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีที่ศาลชั้นต้น ตามคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527คดีอยู่ระหว่างพิจารณา ขณะที่โจทก์ดำเนินการเก็บงานเพื่อความเรียบร้อยของงานงวดที่ 6 ตามสัญญาเดิม งานงวดที่ 3 ตามสัญญาเพิ่มเติมและทำงานเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาอยู่นั้น โจทก์ได้ทวงถามเงินค่างานงวดที่ 5 ตามสัญญาเดิม และงวดที่ 2 ตามสัญญาเพิ่มเติมจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉยเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงหยุดทำงานกับเรียกค่าเสียหายและค่าจ้างทำของซึ่งโจทก์ได้ทำงานเสร็จไปร้อยละเก้าสิบห้ารวมเป็นเงิน 1,852,500 บาท แต่จำเลยเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเท่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี เป็น 277,875 บาท และจำเลยต้องคืนเงินที่หักเก็บไว้ร้อยละสิบจากเงินค่างวด รวม 495,000 บาท รวมจำเลยต้องชำระหนี้ให้โจทก์ 2,625,375 บาท ขอศาลบังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,625,375 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของเงิน 2,347,500 บาท นับจากวันฟ้อง

จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527 เป็นเรื่องเดียวกันกับคดีนี้และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่สามารถก่อสร้างงานให้เสร็จภายในกำหนดสัญญาจึงได้ทิ้งงานไป ส่วนที่โจทก์ทำการก่อสร้างไปแล้วก็ยังบกพร่องใช้การไม่ได้ โจทก์จะต้องถูกจำเลยปรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งจำเลยฟ้องแย้งในคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527ไว้แล้ว จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์เพิ่มเติมงานจำนวน 300,000 บาทแต่เป็นงานที่โจทก์ต้องทำตามสัญญาเดิม โจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญาจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้าง ดอกเบี้ยและเงินที่หักเก็บไว้ร้อยละสิบคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน1,155,000 บาท ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2526 จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างต่อเติมอาคารแอมบาสเดอร์คอร์ท ซอยหลังสวน ถนนเพลินจิต เป็นเงิน5,500,000 บาท ระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ 150 วัน แบ่งการชำระเงินเป็น 6 งวด โดยเฉพาะงวดที่ 6 จำนวนเงิน 1,100,000 บาท จะจ่ายเมื่อโจทก์ได้ดำเนินการตกแต่งทั้งหมดตามสัญญาเป็นที่เรียบร้อย และได้รับการตรวจรับงานจากผู้ว่าจ้างและสถาปนิกแล้วตามเอกสารหมาย จ.4ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2527 โจทก์จำเลยได้บันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมรายการก่อสร้างเป็นเงิน 1,100,000 บาท โจทก์จะต้องก่อสร้างตามสัญญาเดิมและสัญญาเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายในวันที่1 มีนาคม 2527 แบ่งการชำระเงินออกเป็น 3 งวด โดยเฉพาะงวดที่ 3จำนวนเงิน 550,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 งานงวดที่ 6 ตามสัญญาเดิมและงานงวดที่ 3 ตามสัญญาเพิ่มเติมจะส่งมอบงานพร้อมกันในวันสิ้นสุดสัญญาคือวันที่ 1 มีนาคม 2527 โจทก์ได้ทำงานให้จำเลยตามสัญญาและได้รับเงินค่าจ้างงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนเงินค่าจ้างงวดที่ 5 ตามสัญญาเดิมและงวดที่ 2 ตามสัญญาเพิ่มเติมจำเลยไม่จ่ายให้โจทก์ โจทก์ฟ้องต่อศาลตามคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527ของศาลชั้นต้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา และในการจ่ายเงินค่าจ้างจำเลยหักเงินไว้ร้อยละ 10 ของเงินค่าจ้างทุกงวด ซึ่งจำเลยจะจ่ายคืนให้โจทก์ในงวดที่ 6 เงินจำนวนนี้โจทก์ฟ้องมาว่าจำนวน 495,000 บาทจำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องจำนวน แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยคืนเป็นเงิน 330,000 บาท โจทก์ไม่อุทธรณ์จึงรับฟังเป็นยุติได้เป็นจำนวน 330,000 บาท นอกจากนี้ยังรับฟังได้ต่อไปว่าได้มีการเลิกสัญญากันแล้ว

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1) หรือไม่จำเลยฎีกาว่า คดีหมายเลขดำที่ 6551/2527 ของศาลชั้นต้นที่ฟ้องก่อนคดีนี้ เป็นสัญญาเดียวกันกับคดีนี้ โจทก์เลิกสัญญาตามเอกสารหมาย จ.12 ในคดีนี้ ก็เป็นการบอกเลิกสัญญาในคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527 ของศาลชั้นต้นเช่นเดียวกัน โจทก์สามารถยื่นฟ้องได้พร้อมกันนั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.12 ลงวันที่ 20 เมษายน 2527ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์เลิกสัญญา ในเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความว่าเลิกสัญญากันแต่ประการใด เพียงแต่เป็นหนังสือที่โจทก์มีถึงจำเลยขอให้จ่ายเงินค่าก่อสร้างในงวดที่ 5 ตามสัญญาเดิมและงานงวดที่ 2ตามสัญญาเพิ่มเติม หากไม่จ่ายภายใน 7 วัน ถือว่าจำเลยผิดสัญญาและจะดำเนินคดีทันที ทั้งจำเลยให้การในคดีนี้ว่าโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับจำเลย นอกจากนี้ในเอกสารหมาย ล.35 ศาลไปตรวจอาคารที่พิพาทในวันที่ 3 ธันวาคม 2527 ในคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527ของศาลชั้นต้น ได้บันทึกว่าโจทก์จะทำงานให้จำเลยให้เสร็จเรียบร้อยแสดงให้เห็นว่าในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 6551/2527ของศาลชั้นต้น ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากัน ส่วนในคดีนี้ เมื่อพิพาทกันในประเด็นเรื่องเลิกสัญญา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของคู่สัญญาที่โจทก์หยุดทำงานแล้วจำเลยเลิกสัญญาและว่าจ้างผู้อื่นทำงานต่อจนเสร็จเรียบร้อย เป็นการเลิกสัญญากันแล้ว จำเลยมิได้อุทธรณ์ จึงเป็นอันยุติรับฟังได้ว่ามีการเลิกสัญญากันแล้วข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงตามที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าเลิกสัญญากันตามเอกสารหมาย จ.12 ลงวันที่ 20 เมษายน 2527 ส่วนการฟ้องคดีของโจทก์จะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)ต้องเป็นกรณีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องแล้ว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นในการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาก่อสร้างต่อเติมอาคารแอมบาสซาเดอร์คอร์ท โจทก์ฟ้องจำเลย 2 คดี คดีหมายเลขดำที่ 6551/2527 ของศาลชั้นต้น โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.4 และงานงวดที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5ซึ่งจำเลยมิได้ชำระให้โจทก์ เป็นการโต้เถียงความรับผิดตามสัญญาและผลงานในงวดดังกล่าว ซึ่งได้เกิดขึ้นในขณะที่ผิดสัญญาในงวดที่ 5ตามเอกสารหมาย จ.4 และงวดที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่คดีนี้โจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างงานงวดที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.4และงานงวดที่ 3 ตามเอกสารหมาย จ.5 กับเงินที่จำเลยหักไว้ร้อยละสิบของเงินค่างวด เป็นการโต้เถียงความรับผิดตามสัญญาและผลงานคนละงวดคนละตอนกัน ทั้งเงินร้อยละสิบแห่งค่างวดที่จำเลยหักไว้โจทก์จะได้รับคืนหรือไม่ เมื่อได้เลิกทำงานกันไปก่อนที่งานจะเสร็จเรียบร้อย ซึ่งเป็นความรับผิดหลังจากเลิกสัญญาแล้ว จึงเป็นการแบ่งแยกความรับผิดเป็นส่วน ๆ ต่างหากจากกัน เมื่อมีการผิดนัดหรือความรับผิดในส่วนใด โจทก์ย่อมฟ้องส่วนที่จำเลยรับผิดได้ทันทีและฟ้องในส่วนที่จะต้องรับผิดใหม่ได้อีกต่างหาก การฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดี มิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน อันจะเป็นการต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ส่วนคำพิพากษาฎีกาที่ 1803/2512 ระหว่าง สำนักนายกรัฐมนตรี กับพวก โจทก์นายเขจ จำเลย ที่จำเลยอ้างมานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

 

โจทก์ผู้รับจ้างฟ้องเรียกเงินตามสัญญาก่อสร้างต่อเติมอาคารจากจำเลยเป็น 2 คดี คดีแรกโจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 5ตามสัญญาก่อสร้างต่อเติมอาคาร เอกสารหมาย จ.4 และงานงวดที่ 2ตามบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมรายการก่อสร้างเอกสารหมาย จ.5 ซึ่งจำเลยมิได้ชำระให้โจทก์ เป็นการโต้เถียงความรับผิดตามสัญญาและผลงานในงวดดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่ผิดสัญญาในงวดที่ 5 ตามเอกสารหมาย จ.4 และงวดที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.5 แต่คดีนี้โจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินค่าก่อสร้างงานงวดที่ 6 ตามเอกสารหมาย จ.4 และงานงวดที่ 3ตามเอกสารหมาย จ.5 กับเงินที่จำเลยหักไว้ร้อยละสิบของเงินค่างวดเป็นการโต้เถียงความรับผิดตามสัญญาและผลงานคนละงวดคนละตอนกันทั้งเงินร้อยละสิบของค่างวดที่จำเลยหักไว้ โจทก์จะได้รับคืนหรือไม่เมื่อได้เลิกทำงานกันไปก่อนที่งานจะเสร็จเรียบร้อย เป็นความรับผิดหลังจากเลิกสัญญาแล้วจึงเป็นการแบ่งแยกความรับผิดเป็นส่วน ๆต่างหากจากกัน เมื่อมีการผิดนัดหรือมีความรับผิดในส่วนใด โจทก์ย่อมฟ้องส่วนที่จำเลยรับผิดได้ทันที และฟ้องในส่วนที่จะต้องรับผิดใหม่ได้อีกต่างหาก การฟ้องของโจทก์ทั้งสองคดีมิใช่เป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน อันจะเป็นการต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173(1)