ความรับผิดของผู้รับจ้างกรณีงดเว้นมีได้หรือไม่

ความรับผิดของผู้รับจ้างกรณีงดเว้นมีได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 335/2532

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถนนของกรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ขณะก่อสร้างในทางการที่จ้างจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทไม่ร่วมกันดูแลรักษาความปลอดภัยของยานพาหนะที่แล่นผ่านไปในบริเวณก่อสร้างคือไม่แสดงเครื่องหมายหรือสัญญาณให้ผู้ขับขี่รถทราบถึงอันตรายในการก่อสร้าง เป็นเหตุให้รถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ได้จ่ายค่าซ่อมและอุปกรณ์ความเสียหายไปแล้ว ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันใช้ค่าเสียหาย 81,310.80บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ได้ติดตั้งเครื่องหมายจราจรและสัญญาณป้องกันอันตรายไว้แล้ว ความเสียหายเกิดจากความประมาทของคนขับรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 จ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างปรับปรุงถนน โดยในสัญญาจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบในเหตุเสียหายอันเกิดแก่บุคคลภายนอก และจำเลยที่ 1ต้องติดตั้งสัญญาณป้องกันอันตรายต่าง ๆ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยที่ 2 มิได้เป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำหรือในคำสั่งที่ให้ไว้หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง จึงไม่ต้องรับผิด ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของนายกระโดนผู้ขับรถคันเกิดเหตุ พิพากษายกฟ้องศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าความเสียหายเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสอง แต่นายกระโดนก็มีส่วนประมาทด้วย กำหนดให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเพียงบางส่วน พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่เกิดเหตุไม่มีสัญญาณไฟเลย จะเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของจำเลยทั้งสองหรือไม่ ความข้อนี้ในสัญญาที่จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 เอกสารหมาย ล.2 ข้อ 7ว่า บริเวณพื้นที่ก่อสร้างทั้งหมด จำเลยที่ 1 จะต้องตรวจสอบระมัดระวังมิให้เกิดข้อบกพร่องเป็นอุปสรรคต่อการจราจร และในเอกสารรายการก่อสร้างปรับปรุงถนนพระรามที่ 1-ถนนเพลินจิตข้อ 3.3.1.5 มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการด้านความปลอดภัย โดยติดตั้งไฟแสงสว่าง สัญญาณไฟเตือน ตลอดช่วงการทำงานและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในการให้ความสะดวกแก่การจัดการจราจรในขณะปฏิบัติงาน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามข้อ 3.3.1.5 ทางจำเลยที่ 2 จึงมีหนังสือเตือนจำเลยที่ 1 ไปเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2525 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำเตือน จำเลยที่ 2 จึงเตือนไปอีกตามหนังสือ ลงวันที่ 16 มีนาคม 2525 ตามเอกสารหมาย ล.4ข้อ 2, 3 ว่าให้จัดทำไม้กั้นทาสีขาว-แดง เพื่อกั้นบริเวณเขตการขุดทุกแห่งพร้อมทั้งติดตั้งตะเกียงรั้ว ให้จัดไฟสัญญาณเตือนในขณะที่มีการปฏิบัติงานตอนกลางคืน ตามข้อสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 นี้จะเห็นได้ชัดเจนว่า คู่กรณีถือว่าสัญญาณไฟในเวลากลางคืนเพื่อให้รถที่ผ่านไปมามองเห็นเพื่อป้องกันอันตรายเป็นสิ่งจำเป็น จึงได้มีการเตือนกันหลายครั้ง ทั้งจำเลยที่ 1 ย่อมคาดได้แต่แรกว่าหากไม่มีสัญญาณไฟเตือนให้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วก็อาจเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายจากการก่อสร้างนั้นได้ การที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ติดตั้งสัญญาณไฟในที่ก่อสร้างในเวลากลางคืนตามคำเตือนนั้นอีกจึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างมาก การที่นายกระโดนมองไม่เห็นเกาะกลางถนนที่กำลังก่อสร้างและขับรถยนต์ชนเกาะกลางถนนเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเมิดต่อนายกระโดนด้วย สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น ในฐานะผู้ดูแลถนนในเขตกรุงเทพมหานคร ย่อมมีหน้าที่ควบคุมจัดให้มีเครื่องหมายและสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน แม้จะจัดให้จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างตัดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังมีหน้าที่ติดตั้งเครื่องหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่การจราจรเมื่อจำเลยที่ 2 ควบคุมแล้วยังมีข้อบกพร่อง จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 ส่วนในปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้ตักเตือนท้วงติงให้จำเลยที่ 1 กระทำการระมัดระวังให้ดีแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังกระทำการประมาทเลินเล่อก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2แต่โจทก์เป็นบุคคลภายนอกซึ่งจำเลยที่ 2 ยังต้องรับผิดอยู่

ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาเกี่ยวกับค่าเสียหายว่ามีการจัดซ่อมรถถึงสองครั้ง ซึ่งตามปกติจะต้องจัดซ่อมให้เรียบร้อยครั้งเดียว จึงเป็นความผิดของโจทก์เองที่เลือกอู่ซ่อมรถไม่มีฝีมือมาซ่อม การจัดซ่อมถึง 2 ครั้งเช่นนี้ ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์เสียหายจริงเท่าใด จึงเรียกร้องค่าเสียหายไม่ได้นั้นเห็นว่า การจัดซ่อมนั้นจะให้เรียบร้อยสมบูรณ์ทุกคราวไปย่อมเป็นไปไม่ได้ บางครั้งเมื่อจัดซ่อมไปแล้ว หากตรวจพบภายหลังว่ายังมีส่วนชำรุดที่ยังมิได้ซ่อมหลงเหลืออยู่ ก็มีความจำเป็นจะต้องจัดซ่อมต่อไปให้ดีดังเดิม จะอ้างว่าโจทก์มีสิทธิซ่อมเพียงครั้งเดียวไม่ว่าเมื่อซ่อมแล้วจะดีดังเดิมหรือไม่ก็ตามย่อมไม่ได้เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งการซ่อมครั้งที่ 2 ว่ามิใช่ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดคราวเดียวกันนี้แล้ว จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดอยู่ ฎีกาจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างปรับปรุงถนน ขณะถนนกำลังก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ไม่จัดให้มีสัญญาณไฟเตือนทั้ง ๆ ที่มีข้อสัญญากับกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ผู้ว่าจ้างไว้ และจำเลยที่ 2ได้เตือนหลายครั้งแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมคาดได้ว่าหากไม่มีสัญญาณไฟเตือนให้เห็นอย่างชัดเจนก็อาจเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายได้ การที่ อ. ไม่เห็นเกาะกลางถนนที่กำลังก่อสร้างและขับรถยนต์ชนเกาะกลางถนนจึงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 กรุงเทพมหานครจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ดูแลถนนในเขตกรุงเทพมหานครย่อมมีหน้าที่ควบคุมจัดให้มีเครื่องหมายและสัญญาณจราจรในบริเวณก่อสร้างหรือซ่อมแซมถนน แม้จะจัดให้จำเลยที่ 1 รับเหมาก่อสร้างไปแล้ว จำเลยที่ 2 ก็ยังมีหน้าที่ติดตั้งเครื่องหมายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่การจราจร เมื่อจำเลยที่ 2 ควบคุมแล้วยังมีข้อบกพร่อง จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับผิดเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิดคราวเดียวกัน เมื่อจัดซ่อมไปแล้วหากตรวจพบภายหลังว่ายังมีส่วนชำรุดที่ยังมิได้ซ่อมหลงเหลืออยู่ ก็ยังจัดซ่อมต่อไปอีกได้ จะอ้างว่ามีสิทธิซ่อมเพียงครั้งเดียวไม่ว่าซ่อมแล้วจะดีดังเดิมหรือไม่ก็ตามหาได้ไม่