งานก่อสร้างเป็นงานที่มีความซับซ้อนและเสี่ยงต่อการเกิดข้อผิดพลาดหรือชำรุดบกพร่องต่างๆได้ง่าย ๆ ทั้งนี้เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความชำนาญและความรอบคอบในการดำเนินการ ดังนั้น การเกิดชำรุดบกพร่องในงานก่อสร้างไม่ได้เป็นสิ่งที่ผู้ว่าจ้างต้องการหรือประสงค์ไว้ โดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือชำรุดบกพร่องในงานก่อสร้าง ผู้ว่าจ้างสามารถหักค่าจ้างของผู้รับจ้างได้ แต่จะต้องประกอบด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
- ผู้ว่าจ้างต้องได้แจ้งเตือนผู้รับจ้างเกี่ยวกับความผิดพลาดหรือชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นในงานก่อสร้าง และจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนและพิสูจน์ได้ว่าเป็นความผิดพลาดหรือชำรุดบกพร่องจริงๆ
- หลังจากได้แจ้งเตือนแล้ว ผู้รับจ้างจะต้องให้เวลาแก้ไขหรือซ่อมแซมงานก่อสร้างให้กับผู้ว่าจ้าง โดยเวลาที่ให้จะต้องเหมาะสมกับความรุนแรงของความผิดพลาดหรือชำรุดบกพร่อง
- หากผู้รับจ้างไม่สามารถแก้ไขหรือซ่อมแซมงานก่อสร้างให้ได้ตามที่ผู้ว่าจ้างต้องการก็มีสิทธิหักค่าจ้างไว้ได้
จำเลยรับจ้างปลูกสร้างโรงสีแก่โจทก์ แต่สร้างไม่ถูกต้องตามสัญญาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ใช้สินจ้างที่ค้างอยู่โดยหักค่าเสียหายออกก่อน เป็นเงิน 41,000 บาท แก่จำเลย โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบต่อจำเลยเพราะจำเลยส่งมอบงานไม่สมบูรณ์ชำรุดบกพร่อง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599, มาตรา 600 และมาตรา 594ตามลำดับนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติแล้วว่าจำเลยได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างโรงสีข้าวให้แก่โจทก์โดยจะใช้อุปกรณ์เครื่องเหล็กติดตั้งเพื่อให้ใช้สีข้าวได้จำนวน 12 เกวียน ตามที่ระบุไว้ในสัญญา เมื่อจำเลยก่อสร้างโรงสีข้าวเสร็จส่งมอบแก่โจทก์แล้ว ปรากฏว่าใช้สีข้าวไม่ได้จำนวนตามสัญญาเพราะจำเลยใช้อุปกรณ์เครื่องเหล็กที่ไม่ได้ขนาดมาตรฐานติดตั้งเป็นเหตุให้โจทก์ต้องว่าจ้างช่างทำการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงใหม่จนใช้การได้ ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวถือว่าเป็นการผิดสัญญาจ้าง จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 24,000 บาท โดยให้หักออกจากค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระจำเลยอยู่ 65,000 บาท กรณีที่ฟังได้ความเป็นยุติดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่จำเลยปฏิบัติผิดสัญญาจ้าง แม้โจทก์ผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ แต่เมื่อโจทก์ว่าจ้างบุคคลภายนอกซ่อมแซม และศาลล่างกำหนดค่าเสียหายเป็นเงิน 24,000 บาทแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินค่าจ้างที่เหลือนั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยไม่ควรได้รับค่าเสียหายอีก โดยอ้างบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 603 นั้น เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นเรื่องที่ผู้รับจ้างเป็นผู้จัดหาสัมภาระแต่การที่จ้างทำนั้นพังทะลายหรือบุบสลายลงก่อนได้ส่งมอบกันถูกต้อง โดยไม่ใช่เกิดจากความผิดหรือการกระทำของผู้ว่าจ้าง จึงให้ความวินาศนั้นตกเป็นพับแก่ผู้รับจ้าง และผู้ว่าจ้างไม่ต้องชำระสินจ้างให้แก่ผู้รับจ้าง แต่ในคดีนี้เป็นเรื่องที่จำเลยผู้รับจ้างได้ส่งมอบงานที่ทำเสร็จแล้วแก่โจทก์ผู้ว่าจ้าง แต่งานที่ทำนั้นไม่เป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง กรณีไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ฉะนั้นเมื่อฟังเป็นยุติว่าโจทก์ได้แก้ไขงานที่รับมอบนั้นใช้การได้โดยจำเลยผู้รับจ้างเป็นฝ่ายออกค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายให้แก่โจทก์แล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะยึดหน่วงสินจ้างหรือไม่ยอมชำระค่าจ้างที่ค้างอยู่ให้แก่จำเลยตามสัญญานั้นได้ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า คำเบิกความของพยานโจทก์มีน้ำหนักให้น่าเชื่อยิ่งกว่าคำเบิกความของพยานจำเลยนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าข้อความในฎีกาดังกล่าวไม่แจ้งชัดว่าโจทก์ไม่เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงใดจึงเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 ที่แก้ไขแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน
สรุป
งานที่ทำบกพร่องไม่เป็นไปตามสัญญา ผู้ว่าจ้างต้องใช้ค่าจ้างที่หักค่าเสียหายออกแล้วแก่ผู้รับจ้าง