จุดวินิจฉัยข้อตกลงในการเลิกสัญญา ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

จุดวินิจฉัยข้อตกลงในการเลิกสัญญา ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2539 จำเลยเสนอขายที่ดินโฉนดเลขที่ 10152 และ 10155 ให้แก่โจทก์ นางทิพย์วัลย์ ชั้วทอง และนางมนัสสม ตันสงวน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกันโดยที่ดินทั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสวน วัฒนธรรม และนางสวนทำสัญญาจะขายให้แก่นายสุโข ลาภเจริญ แล้วนายสุโขทำสัญญาจะขายให้แก่จำเลย โจทก์กับพวกทำสัญญาจะซื้อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจากจำเลยเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2539 ในราคา 5,500,000 บาท โดยชำระเงินมัดจำคนละ 700,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,100,000 บาท สำหรับค่าที่ดินส่วนที่เหลือตกลงแบ่งชำระภายในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2540 จำนวน 1,900,000 บาท และอีกจำนวน 1,500,000 บาท ชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ทั้งนี้ จำเลยตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์กับพวกภายในกำหนด 8 เดือน ครั้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 โจทก์กับพวกชำระเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยจำนวน 866,666 บาท โดยเป็นส่วนของโจทก์จำนวน 333,333 บาท ของนางทิพย์วัลย์จำนวน 333,333 บาท และของนางมนัสสมจำนวน 200,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์กับพวกชำระเงินให้แก่จำเลยอีก 700,000 บาท โดยเป็นส่วนของโจทก์จำนวน 300,000 บาท ของนางทิพย์วัลย์จำนวน 300,000 บาท และของนางมนัสสมจำนวน 100,000 บาท เมื่อครบกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว จำเลยไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์กับพวกได้เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับนายสุโข โจทก์กับพวกจึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องคืนเงินในส่วนของโจทก์ให้แก่โจทก์จำนวน 1,333,333 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับเงินจนถึงวันฟ้องเป็นเงินอีก 260,999.94 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 1,594,332.94 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,594,332.94 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,333,333 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินทั้งสองแปลงระหว่างโจทก์และพวกกับจำเลยนั้น มีข้อตกลงชำระที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 1,900,000 บาท ภายในเดือนมกราคม 2540 และอีกจำนวน1,500,000 บาท ชำระภายในเดือนมีนาคม 2540 เมื่อชำระราคาครบถ้วนแล้วจำเลยจึงจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์กับพวกภายในกำหนด 8 เดือน นับแต่วันทำสัญญา หากโจทก์กับพวกผิดนัดให้สัญญายกเลิกสิ้นสุดลงทันทีโดยมิต้องบอกกล่าวและให้จำเลยริบเงินมัดจำรวมทั้งเงินที่ชำระแล้วได้ทั้งหมด หลังจากทำสัญญากันแล้วโจทก์กับพวกผิดสัญญาไม่ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือในเดือนมกราคม 2540 และไม่มีเงินที่จะชำระค่าที่ดินภายในกำหนดตามสัญญา สัญญาจึงเป็นอันยกเลิกสิ้นสุดลง จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำและเงินที่ชำระแล้วโดยไม่ต้องคืนให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,594,332.94 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,333,333 บาท นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้ว่า เดิมที่ดินทั้งสองแปลงตามคำฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสวน วัฒนธรรม นางสวนทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่นายสุโข ลาภเจริญ แล้วนายสุโขทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยตามสำเนาหนังสือสัญญามัดจำเอกสารหมาย จ.ล. 7 ต่อมาวันที่ 25 กันยายน 2539 จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินทั้งสองแปลงข้างต้นให้แก่โจทก์ นางทิพย์วัลย์ ชั้วทอง และนางมนัสสม ตันสงวน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนกันในราคา 5,500,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อขายโจทก์กับพวกชำระเงินมัดจำจำนวน 2,100,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระแก่จำเลยภายใน 8 เดือน โดยแบ่งชำระภายในเดือนมกราคม 2540 จำนวน 1,900,000 บาท และชำระภายในเดือนมีนาคม 2540 จำนวน 1,500,000 บาท ปรากฏว่าโจทก์กับพวกชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่จำเลยจำนวน 1,900,000 บาท ครบถ้วนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ส่วนจำนวนอีก 1,500,000 บาท ยังมิได้ชำระ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยกับนายสุโขและนางทิพย์วัลย์เป็นคดีอาญาฐานฉ้อโกงและนางทิพย์วัลย์ฟ้องโจทก์กับพวกเป็นคดีอาญาฐานแจ้งความเท็จ หลังจากนั้นโจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาจำเลยมีว่า การที่โจทก์อ้างบันทึกคำเบิกความพยานที่เคยเบิกความไว้ในคดีอาญาที่โจทก์และจำเลยต่างฟ้องร้องซึ่งกันและกันสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อขายคดีนี้เป็นพยาน ศาลจะรับฟังบันทึกคำเบิกความดังกล่าวเป็นพยานในคดีนี้ได้หรือไม่ ปัญหานี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คู่ความสามารถอ้างอิงเอกสารใด ๆ เพื่อเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของตนได้ ข้อเท็จจริงได้ความตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 และวันที่ 26 กรกฎาคม 2543 ว่า ฝ่ายโจทก์แถลงจะสืบพยานบุคคล 3 ปาก ซึ่งเคยเบิกความในคดีอาญาที่โจทก์กับจำเลยฟ้องร้องซึ่งกันและกัน หากฝ่ายจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงตามคำเบิกความดังกล่าวก็จะส่งคำเบิกความเป็นพยาน ต่อมาทั้งโจทก์และจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่าโจทก์กับพวกและจำเลยเคยฟ้องร้องคอีอาญาซึ่งกันและกัน มีการสืบพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องขออ้างส่งสำเนาคำฟ้อง สำเนาคำเบิกความของพยาน และเอกสารประกอบคำเบิกความในคดีอาญาทั้งสองสำนวนเป็นพยานในคดีนี้ร่วมกันตามเอกสารหมาย จ.ล. 1 ถึง จ.ล. 14 และโจทก์จำเลยยังประสงค์อ้างส่งเอกสารที่รับข้อเท็จจริงกันแล้วว่าถูกต้องเป็นพยานเพิ่มเติมตามเอกสารหมาย จ.ล. 15 ถึง จ.ล. 20 เห็นว่า เอกสารดังกล่าวทั้งหมดคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันแล้วว่าถูกต้องและขออ้างเป็นพยานหลักฐานร่วมกัน จึงต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น ศาลย่อมรับฟังเป็นพยานได้ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปตามฎีกาจำเลยว่าโจทก์ผิดสัญญาจะซื้อขายตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า สัญญาจะซื้อขายดังกล่าวโจทก์กับพวกผู้จะซื้อได้ชำระเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 2,100,000 บาท ค่าที่ดินส่วนที่เหลือตกลงแบ่งชำระอีก 2 งวด คือ ชำระภายในเดือนมกราคม 2540 จำนวน 1,900,000 บาท และชำระภายในเดือนมีนาคม 2540 จำนวน 1,500,000 บาท ปรากฏว่าโจทก์ผิดนัดตั้งแต่งวดเดือนมกราคม 2540 ด้วยการชำระในวันที่ 28 มกราคม 2540 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 จึงครบกำหนด 1,900,000 บาท ส่วนงวดเดือนมีนาคม 2540 โจทก์มิได้ชำระให้แก่จำเลยแต่อย่างใด โจทก์จึงผิดสัญญามีผลให้สัญญาเลิกกันทันทีตามข้อตกลงในสัญญา ศาลฎีกาเห็นว่า แม้สัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์และพวกกับจำเลยจะกำหนดเวลาการชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือภายในเดือนมกราคม 2540 งวดหนึ่ง และชำระภายในเดือนมีนาคม 2540 อีกงวดหนึ่ง และโจทก์มิได้ชำระเงินตามกำหนด แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ค่าที่ดินส่วนที่เหลือที่ต้องชำระภายในเดือนมกราคม 2540 โจทก์กับพวกได้ชำระเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2540 ครั้งหนึ่ง และได้ชำระเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2540 อีกครั้งหนึ่ง จนครบจำนวน 1,900,000 บาท โดยจำเลยมิได้ทักท้วง สำหรับค่าที่ดินอีกงวดหนึ่งที่ต้องชำระภายในเดือนมีนาคม 2540 และโจทก์กับพวกมิได้ชำระแก่จำเลยตามกำหนดก็ได้ความว่า เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2540 จำเลยลงนามในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.ล. 6 ให้โจทก์ไปดำเนินการติดต่อนายสุโข ลาภเจริญ เกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ซึ่งจำเลยทำสัญญาจะซื้อจากนายสุโข โดยจำเลยเบิกความในเรื่องนี้ว่าได้ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวให้โจทก์กับพวกไปดำเนินการโอนที่ดิน (หมายถึงที่ดินตามฟ้อง) กับนายสุโขเอาเอง ดังนี้ เห็นได้ว่า การที่จำเลยยินยอมรับชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืองวดเดือนมกราคม 2540 ล่วงเลยกำหนดเวลา และจำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปติดต่อโอนที่ดินตามฟ้องจากนายสุโขได้เอง หลังพ้นกำหนดการชำระค่าที่ดินที่เหลืองวดเดือนมีนาคม 2540 เช่นนี้เท่ากับจำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ที่ตกลงไว้ตามสัญญาจะซื้อขายเป็นสาระสำคัญ และไม่ถือว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และพวกกับจำเลยสิ้นสุดลงทันทีตามสัญญา และตามที่จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจำเลยมิได้ผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินแก่โจทก์กับพวกตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อที่ดินตามฟ้องกับนายสุโข จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และพวกกับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.ล. 5 ระบุแต่เพียงว่าฝ่ายโจทก์กับพวกผู้จะซื้อจะชำระค่าที่ดินที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 8 เดือน นับแต่วันทำสัญญา โดยแบ่งชำระเป็นสองงวดภายในเดือนมกราคม 2540 และภายในเดือนมีนาคม 2540 สำหรับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นตามสัญญาข้อ 6 ระบุว่าฝ่ายจำเลยผู้จะขายจะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ ในการนี้จำเลยจะแจ้งให้ฝ่ายโจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความจากนายสุโขว่านางสวนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเดิมทำหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 ตามเอกสารหมาย ล. 1 แผ่นที่ 2 ให้นายสุโขไปดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามฟ้อง แสดงว่าหลังจากโจทก์และพวกทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยแล้วยังต้องมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายหมาย จ.ล. 5 ข้อ 6 จริง และไม่ปรากฏว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจะเสร็จสิ้นวันไหน จึงยังไม่ทราบแน่นอนว่าจะมีกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องระหว่างโจทก์และพวกกับจำเลยเมื่อใด ทั้งโจทก์กับพวกก็ยังมิได้ชำระค่าที่ดินงวดสุดท้ายแก่จำเลย ดังนั้น แม้จำเลยจะผิดสัญญาจะซื้อที่ดินดังกล่าวกับนายสุโขหรือไม่ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินคดีนี้กับโจทก์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยในส่วนนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความอีกว่า เมื่อล่วงเลยกำหนดชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืองวดสุดท้ายแล้ว จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปติดต่อชำระเงินและรับโอนที่ดินจากนายสุโขได้โดยตรง แต่โจทก์ไม่สามารถตกลงกับนายสุโขได้ จำเลยมิได้ทวงถามให้โจทก์กับพวกชำระค่าที่ดินที่เหลือในงวดสุดท้ายแต่อย่างใด ส่วนโจทก์ก็มิได้ดำเนินการใด ๆ ที่จะให้จำเลยโอนที่ดินตามฟ้องให้ กลับปรากฏว่าหลังจากนั้นทั้งสองฝ่ายต่างฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาซึ่งกันและกัน เป็นข้อแสดงว่าทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันอีกต่อไป ถือได้ว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวกันโดยปริยาย คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์ในส่วนของโจทก์พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

  • สรุป
  • จำเลยยินยอมรับชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืองวดเดือนมกราคม 2550 ล่วงเลยกำหนดเวลา และทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปติดต่อโอนที่ดินจากเจ้าของเดิมได้เองหลังพ้นกำหนดการชำระค่าที่ดินที่เหลืองวดเดือนมีนาคม 2540 เท่ากับจำเลยมิได้ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ที่ตกลงไว้ตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นสาระสำคัญ และไม่ถือว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลงทันทีตามสัญญา

    สัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุแต่เพียงว่า ฝ่ายโจทก์ผู้จะซื้อจะชำระค่าที่ดินที่เหลือทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 8 เดือน นับแต่วันทำสัญญา โดยแบ่งชำระเป็นสองงวดภายในเดือนมกราคม 2540 และภายในเดือนมีนาคม 2540 สำหรับการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นตามสัญญาข้อ 6 ระบุว่าฝ่ายจำเลยผู้จะขายจะจัดการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเมื่อได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว พร้อมกับการชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ แสดงว่าหลังจากโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับจำเลยแล้วยังต้องมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามจะซื้อจะขาย และไม่ปรากฏว่าการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวจะเสร็จสิ้นวันไหน จึงยังไม่ทราบแน่นอนว่าจะมีกำหนดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเมื่อใด ทั้งโจทก์ก็ยังมิได้ชำระค่าที่ดินงวดสุดท้ายแก่จำเลย ดังนั้น แม้จำเลยจะผิดสัญญาจะซื้อที่ดินดังกล่าวกับเจ้าของเดิมหรือไม่ก็ตาม ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์

    ภายหลังจากล่วงเลยกำหนดชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลืองวดสุดท้าย จำเลยทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ไปติดต่อชำระเงินและรับโอนที่ดินจากเจ้าของเดิมได้โดยตรง แต่โจทก์ไม่สามารถตกลงกับเจ้าของเดิมได้ จำเลยมิได้ทวงถามให้โจทก์ชำระค่าที่ดินที่เหลือในงวดสุดท้าย ส่วนโจทก์ก็มิได้ดำเนินการใด ๆ ที่จะให้จำเลยโอนที่ดินตามฟ้องให้ กลับร้องดำเนินคดีอาญาซึ่งกันและกัน เป็นข้อแสดงว่าทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันอีกต่อไป ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยต่างสมัครใจเลิกสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวกันโดยปริยาย คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินที่รับไปจากโจทก์พร้อมดอกเบี้ย