ทำข้อตกลงยืดระยะเวลาก่อสร้างได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 839/2543
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างตึกผ่าตัดรวม1 หลัง โจทก์ส่งมอบงานล่าช้าเป็นเพราะความผิดของจำเลยเอง เบี้ยปรับสูงเกินส่วนขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 36,798,160 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 32,909,837.49 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (18 มิถุนายน2536) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกมีว่า ที่โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเหตุให้จำเลยปรับโจทก์เป็นเวลา 81 วันนั้นเป็นเพราะความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ปรากฏตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อติดตั้งเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อได้กระทำกันเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์2533 อันเป็นเวลาภายหลังระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลงแล้ว แต่อยู่ในระยะเวลาที่จำเลยอนุมัติให้ขยายให้โจทก์ตามมติคณะรัฐมนตรี มีการแก้ไขเพิ่มเติมรายการต่าง ๆ หลายรายการ ไม่มีทางที่โจทก์จะทำให้เสร็จตามกำหนดเวลาในสัญญาเดิมได้ ส่วนการขยายเวลาให้ตามมติคณะรัฐมนตรีก็เป็นเรื่องสุดแล้วแต่ความเห็นของจำเลยว่าจะให้หรือไม่ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้มีการเจรจาตกลงกันเรื่องขยายเวลาไว้แสดงให้เห็นถึงการผ่อนผันให้แก่กันโดยไม่ถือเอาเคร่งครัดตามระยะเวลาในสัญญาเดิมโจทก์นำสืบว่าในการประชุมของคณะกรรมการตรวจการจ้างครั้งที่ 1/2535เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2535 เพื่อพิจารณาเรื่องที่โจทก์ขออนุมัติต่ออายุสัญญาและเรื่องที่บริษัทไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประจำประเทศไทยขอยกเว้นค่าปรับจำนวน 81 วัน นายเทียนหยด ผู้แทนบริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัด ผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างผู้มาประชุมแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าการที่ผู้รับจ้างทำงานล่าช้ากว่ากำหนดวันในสัญญานั้น สาเหตุประการหนึ่งคือ ห้างฯ ผู้รับจ้างต้องเสียเวลาในการทำงาน เนื่องจากทางผู้ว่าจ้างได้ขอความร่วมมือจากห้างฯ ผู้รับจ้างให้เร่งทำการส่งมอบสถานที่บางส่วนก่อนที่ทางโรงพยาบาลศิริราชจะเข้าไปดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงและระบบซีเอสเอสดี มีการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็งไม่ให้ผู้ที่ไม่มีธุระเข้าไปในบริเวณที่ก่อสร้าง ทำให้ห้างฯ ผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าทำงานในบริเวณใกล้เคียงได้ ทำให้ห้างฯ ผู้รับจ้างต้องเสียเวลาในการก่อสร้าง ซึ่งมิใช่เป็นความผิดหรือความบกพร่องของผู้รับจ้าง เวลาที่เสียไปเนื่องจากผู้รับจ้างไม่สามารถเข้าไปทำงานได้นั้น สมควรนำมาคิดทดแทนให้ผู้รับจ้างต่อไป คณะกรรมการตรวจการจ้างได้พิจารณาแล้ว เห็นสมควรให้นายเทียนหยดตรวจสอบดูว่าจำนวนวันที่ผู้รับจ้างต้องเสียเวลาไปและไม่สามารถเข้าทำงานก่อสร้างได้ ทำให้งานแล้วเสร็จล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเวลากี่วันตามความเป็นจริงเพื่อที่จะได้ทดแทนให้ห้างฯ ผู้รับจ้าง เมื่อทางบริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัด ได้ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดดังกล่าวแล้วเสร็จให้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อจะได้เวียนให้กรรมการตรวจการจ้างทราบหากกรรมการท่านใดคัดค้านก็ขอให้ทำหนังสือแจ้งมา เพื่อจะได้นัดประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างเพื่อพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่ง หากไม่มีผู้ใดคัดค้าน ทางคณะกรรมการตรวจการจ้างก็จะเสนอมหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อเสนอทบวงมหาวิทยาลัยพิจารณาอนุมัติการขอขยายเวลาของผู้รับจ้างต่อไป ต่อมานายยมหิน คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 5 มีนาคม 2535 ถึงกรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัด ขอความร่วมมือจากบริษัทให้เร่งดำเนินการตรวจสอบจำนวนวันที่โจทก์ผู้รับจ้างต้องเสียไปตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างมีมติ บริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัด โดยนายเทียนหยด ได้มีหนังสือลงวันที่ 18 มีนาคม 2535 ถึงประธานกรรมการตรวจการจ้าง แจ้งผลการตรวจสอบว่าผู้รับจ้างก่อสร้างได้ส่งมอบห้องเครื่องไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวงเพื่อทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงและสายเมนแรงต่ำของตึก 72 ปี และตึก 84 ปีเมื่อประมาณวันที่ 10 กรกฎาคม 2532 และการไฟฟ้านครหลวงได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยพร้อมส่งมอบให้โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2532 รวมระยะเวลาในการดำเนินงาน 127 วัน ผู้รับจ้างก่อสร้างได้ส่งมอบห้องซีเอสเอสดีบนพื้นชั้นที่ 2ให้บริษัทเซอร์เจอร์น เอดส์ จำกัด ผู้รับจ้างติดตั้งระบบซีเอสเอสดีเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน2533 บริษัทผู้รับจ้างได้ดำเนินการติดตั้งระบบดังกล่าวจนถึงวันที่หมดอายุสัญญาก่อสร้างคือวันที่ 28 ธันวาคม 2533 รวมระยะเวลาในการดำเนินงาน 211 วันและบริษัทสิทธิชัยเอนจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับจ้างก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมของโรงพยาบาลได้วางท่อของระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณถนนด้านหลังตึกสยามมินทร์ ทำให้ผู้รับจ้างก่อสร้างไม่สามารถใช้ถนนดังกล่าวขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างได้เป็นระยะเวลาในการดำเนินงาน 20 วัน รวมระยะเวลาที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง3 รายการ จำนวน 358 วัน แต่เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวผู้รับจ้างก่อสร้างยังสามารถดำเนินการก่อสร้างส่วนอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องหยุดงานทั้งหมด จึงเห็นสมควรพิจารณาต่ออายุสัญญาก่อสร้างให้เพียงครึ่งหนึ่งของระยะเวลาดังกล่าวคือเท่ากับ179 วัน หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุและกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยได้แทงเรื่องในหนังสือฉบับนี้ถึงประธานกรรมการตรวจการจ้างว่าสมควรแจ้งกรรมการตรวจการจ้างทุกท่านเพื่อทราบด้วย หากท่านใดไม่เห็นชอบด้วยโปรดแจ้งภายในวันที่ 30มีนาคม 2535 ไม่ปรากฏว่ามีกรรมการผู้ใดมีหนังสือคัดค้านไม่เห็นชอบด้วยแต่อย่างใดจึงถือว่าคณะกรรมการตรวจการจ้างเห็นชอบตามที่บริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัดเสนอมาตามบันทึกของประธานกรรมการตรวจการจ้าง แต่ในชั้นพิจารณาของศาลนายเทียนหยด ซึ่งโจทก์จำเลยร่วมกันอ้างเป็นพยานเบิกความว่าการติดตั้งเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อไม่ใช่เหตุให้งานก่อสร้างล่าช้า แต่เนื่องจากบริษัทไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอนจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประจำประเทศไทยได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมให้ลดค่าปรับเนื่องจากมิได้ร่วมงานกับโจทก์ตั้งแต่แรก และเป็นบริษัทของรัฐบาลจีน หากต้องถูกปรับแล้วจะทำให้เสียชื่อเสียงของประเทศจีนจึงได้มีการพิจารณาหาเหตุลดค่าปรับให้ สอดคล้องกับคำเบิกความของนายเสลาและนายกล้วยไม้ พยานจำเลยซึ่งเบิกความว่าการติดตั้งเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานก่อสร้างของโจทก์ เพราะงานที่ไม่แล้วเสร็จเป็นส่วนบน เช่น ฝ้าเพดานหรือระบบท่อที่เดินลอดใต้เพดาน รายงานผลการตรวจสอบจำนวนวันที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงานก่อสร้างของบริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัด ก็ระบุว่าในระยะเวลาดังกล่าวผู้รับจ้างยังสามารถดำเนินการก่อสร้างในส่วนอื่นได้โดยไม่ต้องหยุดงานทั้งหมด นอกจากนี้โจทก์ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 28 มีนาคม 2534 ไปถึงจำเลยอ้างว่า เหตุที่โจทก์ยังดำเนินการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเนื่องจากด้านวัสดุก่อสร้าง ด้านแรงงาน และด้านการเงิน ไม่ได้อ้างว่าเหตุที่ทำการก่อสร้างล่าช้าเป็นเพราะจำเลยให้บริษัทเซอร์เจอร์น เอดส์ จำกัด เข้าทำการติดตั้งเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อ ทั้งที่ขณะทำหนังสือดังกล่าวบริษัทเซอร์เจอร์น เอดส์ จำกัด ได้เข้าติดตั้งเวชภัณฑ์ปลอดเชื้ออยู่แล้วแสดงให้เห็นว่าแม้เหตุดังกล่าวจะเป็นอุปสรรคในการทำการก่อสร้างของโจทก์อยู่บ้างแต่โจทก์ยังสามารถทำการก่อสร้างในส่วนอื่นได้ดังที่จำเลยนำสืบ และต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากัน โดยจำเลยผ่อนผันยืดเวลาทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จออกไปอีกภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2534 และกำหนดไว้ในข้อ 3 ว่า ความรับผิดชอบส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จเดิมตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2533 เป็นต้นไปโจทก์ยอมให้จำเลยปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยจึงมีสิทธิปรับโจทก์ได้ตามสัญญา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุควรลดค่าปรับให้โจทก์หรือไม่โจทก์ฎีกาว่าเหตุที่โจทก์ทำการก่อสร้างล่าช้าเกิดจากภาวะขาดแคลนวัสดุก่อสร้างในขณะนั้นด้วย คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ส่วนราชการทุกแห่งพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมางานจากราชการทุกรายมีระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี เพื่อป้องกันมิให้ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องทิ้งงาน โดยข้อเท็จจริงยิ่งการก่อสร้างนานเท่าใด ผู้รับเหมาก่อสร้างก็ยิ่งได้รับความเสียหายมากขึ้นเท่านั้น เพราะยังต้องจ่ายค่าจ้างคนงานตราบเท่าที่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าเกือบ 2 ปี มิใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างคนงานในช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้โจทก์ขาดทุนย่อยยับจำเลยปรับโจทก์เป็นจำนวนสูงเกินไป ค่าปรับไม่ควรสูงกว่าวันละ 10,000 บาท เห็นว่า ในระยะเวลาดังกล่าววัสดุก่อสร้างขาดแคลนจนคณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่วนราชการทุกแห่งพิจารณาขยายเวลาก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างจริง โจทก์ได้ทำการก่อสร้างอาคารให้จำเลยจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามสัญญา จำเลยมีห้องผ่าตัดเดิมและที่พักแพทย์และพยาบาลเดิมอยู่แล้ว ความเสียหายจากการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาทำให้จำเลยให้บริการผู้ป่วยได้ไม่มากขึ้นและล่าช้าไป ไม่ปรากฏว่ามีความเสียหายอย่างอื่นอีก เมื่อพิจารณาประกอบกับหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบของบริษัทที่ปรึกษาไทยกรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นผู้ออกแบบอาคารและควบคุมงานก่อสร้างว่าการไฟฟ้านครหลวงได้ทำการติดตั้งระบบไฟฟ้าแรงสูงและสายเมนแรงต่ำของตึก 72 ปี และตึก 84 ปี ใช้เวลาในการดำเนินงาน 127 วัน บริษัทเซอร์เจอร์น เอส์ จำกัด ทำการติดตั้งระบบซีเอสเอสดี ใช้เวลาในการดำเนินงาน 211 วัน และบริษัทสิทธิชัย เอนจิเนียริ่ง จำกัด ผู้รับจ้างก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมของโรงพยาบาลได้วางท่อของระบบบำบัดน้ำเสียบริเวณด้านหลังตึกสยามมินทร์ทำให้ผู้รับจ้างก่อสร้างไม่สามารถใช้ถนนดังกล่าวขนส่งวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างได้เป็นเวลา 20 วัน รวมระยะเวลาที่เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง 3 รายการ จำนวน 358 วัน แต่ระยะเวลาดังกล่าวผู้รับจ้างก่อสร้างยังสามารถดำเนินการก่อสร้างส่วนอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องหยุดงานทั้งหมดมาประกอบด้วยแล้ว เห็นว่า ค่าปรับดังกล่าวสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรกเมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้ทางเสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นสมควรลดค่าปรับให้โจทก์ลงเป็นปรับวันละ 120,000 บาท รวม 81 วัน เป็นเงิน9,720,000 บาท ดังนั้น เมื่อนำค่าปรับจำนวนนี้ไปหักออกจากค่าปรับจำนวน32,909,837.49 บาท ซึ่งจำเลยหักเอาไว้จากเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 28 และ 29 แล้ว จำเลยจะต้องชำระเงินค่าก่อสร้างทั้งสองงวดดังกล่าว ในส่วนที่หักไว้เกินเป็นเงินจำนวน23,189,837.49 บาท ให้โจทก์ ฎีกาโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน และส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารโดยส่งมอบให้จำเลยล่าช้ากว่ากำหนด จำเลยจึงปรับโจทก์ตามสัญญาโดยหักเงินค่าปรับไว้จากค่าจ้าง เมื่อศาลพิพากษาลดค่าปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ให้จำเลยคืนค่าปรับบางส่วนให้แก่โจทก์โจทก์หามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่ได้รับคืนนั้นไม่ เพราะการที่จำเลยหักค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 23,189,837.49 บาท ให้โจทก์นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป
แม้มีเหตุจะเป็นอุปสรรคในการทำการก่อสร้างของโจทก์อยู่บ้าง แต่โจทก์ยังสามารถทำการก่อสร้างในส่วนอื่นได้ และต่อมาโจทก์จำเลยได้ทำสัญญากันโดยจำเลยผ่อนผันยืดเวลาทำการก่อสร้างให้แล้วเสร็จออกไปอีก และกำหนดไว้ในข้อ 3 ว่าความรับผิดชอบส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จเดิมเป็นต้นไป โจทก์ยอมให้จำเลยปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น จำเลยจึงมีสิทธิปรับโจทก์ได้ตามสัญญา
โจทก์ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารโดยส่งมอบให้จำเลยล่าช้ากว่ากำหนดจำเลยจึงปรับโจทก์ตามสัญญา โดยหักเงินค่าปรับไว้จากค่าจ้าง เมื่อศาลพิพากษาลดค่าปรับลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้จำเลยคืนค่าปรับบางส่วนให้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเงินค่าปรับที่ได้รับคืนนั้น เพราะการที่จำเลยหักค่าปรับไว้เป็นการใช้สิทธิตามสัญญาจ้าง