ทำงานชำรุดบกพร่องหรือไม่เสร็จตามที่ตกลง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

ทำงานชำรุดบกพร่องหรือไม่เสร็จตามที่ตกลง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 331/2534

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อเดือนตุลาคม 2524 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อติดตั้งภายในบ้านเลขที่ 233 ซอยกรเกษม แขวงสวนหลวง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครของโจทก์ และตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้ควบคุมดูแลการทำเฟอร์นิเจอร์ของผู้รับจ้างให้ถูกต้องตามแบบด้วย โจทก์ตกลงราคาร้อยละสิบของค่างานที่สั่งทำ จำเลยที่ 3 ได้ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้โจทก์และโจทก์ได้จ่ายเงินค่าออกแบบกับค่าคุมงานให้จำเลยที่ 3 ไปแล้วจำนวน 45,000 บาท เดือนมกราคม 2525 โจทก์ได้ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 ทำเฟอร์นิเจอร์ โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุมงานในราคา563,400 บาท แบ่งชำระเงินเป็น 3 งวด งวดแรกเมื่อลงมือทำงานชำระร้อยละสามสิบ งวดที่สองเมื่อติดตั้งชำระร้อยละสามสิบห้า งวดที่สามเมื่อเสร็จเรียบร้อยชำระร้อยละสามสิบห้า โจทก์ได้จ่ายเงินงวดแรกจำนวน 150,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 รับไปแล้ว ปลายเดือนมกราคมนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเฟอร์นิเจอร์มาติดตั้งและทาสีที่บ้านโจทก์โจทก์ตรวจพบลว่าเฟอร์นิเจอร์บางรายการทำผิดแบบ จึงแจ้งให้แก้ไขแต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยและขอเก็บเงินงวดที่สอง โจทก์ไม่ยอมจ่ายให้จำเลยที่ 1 ทิ้งงานไปโจทก์จึงนำช่างอื่นมาตรวจสอบ พบว่าจำเลยที่ 1ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ถูกต้องตามแบบและใช้วัสดุไม่ตรงตามแบบ เป็นการประพฤติผิดสัญญา จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 4พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 1 อ้างว่าทำถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาและยังมีเฟอร์นิเจอร์บางส่วนเตรียมการไว้พร้อมที่จะติดตั้ง ยืนยันให้โจทก์จ่ายเงิน โจทก์จึงมอบให้นายมะปราง ตรวจสอบเฟอร์นิเจอร์ร่วมกับตัวแทนของจำเลยทั้งสามตัวแทนจำเลยยอมรับว่าเครื่องเฟอร์นิเจอร์ใช้วัสดุไม่ตรงตามแบบและทำผิดแบบแปลนจริงโจทก์จึงให้จำเลยที่ 1 จัดการแก้ไขและส่งมอบเฟอร์นิเจอร์ใน 30 วันแต่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติ กลับแจ้งให้โจทก์ชำระค่าจ้างและบอกเลิกงานส่วนที่เหลือ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการผิดสัญญา ร่วมกันใช้วัสดุที่มีคุณภาพต่ำทำเฟอร์นิเจอร์ให้โจทก์ไม่ตรงตรมแบบ จำเลยที่ 3ไม่ปฏิบัติงานตามหลักปฏิบัติและวิชาการ ละทิ้งงานที่รับทำ ทำให้โจทก์เสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายคือ จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีหน้าที่ต้องคืนเงิน 150,000 บาท จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าคุมคนงานจำนวน 16,830 บาท กับต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเรียกช่างมาตรวจสอบเป็นเงิน 10,000 บาทและจำเลยทั้งสามต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในการติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ไม่เสร็จ ทำให้บ้านเป็นรอยต้องซ่อมแซมเป็นเงิน 30,000 บาท ค่าขาดประโยชน์ในการให้ผู้อื่นเช่าบ้านไม่ได้เดือนละ 20,000 บาทค่าจ้างบุคคลอื่นทำใหม่มีราคาสูงขึ้นกว่าเดิม 75,300 บาท และค่ารื้อถอน หากจำเลยไม่รื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ออก โจทก์ต้องรื้อเองเป็นเงิน 10,000 บาท ขอให้พิพากาาบังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 เสียจากต้นเงิน 265,300 บาท และจำเลยที่ 3 เสียจากต้นเงิน 142,130 บาท

จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจ้างโจทก์ออกแบบให้ที่บ้านโจทก์ด้วยสัมภาระของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1เสนอราคาจ้างทำเฟอร์นิเจอร์เป็นเงิน 706,700 บาท จำเลยที่ 3คิดค่าจ้างร้อยละสิบของราคาที่จำเลยที่ 1 รับเหมา คิดเป็นเงิน70,670 บาท โจทก์ชำระค่าจ้างให้จำเลยที่ 3 แล้วบางส่วนเป็นเงิน45,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีก 25,670 บาท ก่อนจำเลยที่ 1 จะลงมือทำงานได้มีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมบางรายการ จากราคา 65,000 บาทเป็น 81,000 บาท ราคาจริงที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 1 จึงเป็นเงิน558,900 บาท มิใช่ 563,400 บาท โจทก์ตกลงชำระค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญา หรือเริ่มทำงานร้อยละสามสิบ ในวันติดตั้งร้อยละสามสิบห้าและเมื่องานแล้วเสร็จร้อยละสามสิบห้า ของราคาจ้างทั้งหมดในการทำงานของจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 เป็นผู้ควบคุม แต่โจทก์ขอร้องให้จำเลยที่ 3 ไปช่วยดูแลการติดตั้งของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ปฏิบัติไปเพื่อบริการโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้า มิใช่หน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบ จำเลยที่ 1 ได้ทำงานตามแบบแปลนและตามข้อตกลงเห็นชอบของโจทก์ เมื่อทวงถามเรียกเก็บเงินค่าจ้างโจทก์กลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำงานให้โจทก์ไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 408,500 บาท โจทก์ชำระค่าจ้างให้เพียง150,000 บาท ยังคงค้างอีก 258,500 บาท ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีนับแต่วันครบกำหนดบอกเลิกสัญญาคือ วันที่ 9กรกฎาคม 2525 คิดถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าดอกเบี้ย 6,462 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องชำระให้จำเลยที่ 1 จำนวน 264,962 บาท และค่าจ้างออกแบบให้แก่จำเลยที่ 3 อีก 25,670 บาท ขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวน 264,962 บาท แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยและให้ชำระเงินจำนวน 25,670 บาท แก่จำเลยที่ 3 พร้อมดอกเบี้ย

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจกท์ไม่เคยตกลงให้จำเลยที่ 1ทำงานนอกเหนือจากที่กำหนดในแบบแปลน และโจทก์ไม่เคยตกลงค่าจ้างกับจำเลยที่ 3 เป็นจำนวนร้อยละสิบของราคาที่ออกแบบ แต่ได้ตกลงว่าจ้างออกแบบและคุมงานในราคาร้อยละสิบของงานที่สั่งทำ โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ในราคา 563,400 บาท เท่านั้น ไม่ใช่ 706,700 บาทและโจทก์ไม่ได้ตกลงว่าจะชำระค่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ทันที เมื่อออกแบบเสร็จ แต่จะชำระให้เมื่อจำเลยที่ 1 ทำเฟอร์นิเจอร์ตามแบบและติดตั้งเรียบร้อยแล้วที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ก่อนลงมือทำงานได้มีการเปลี่ยนแปลงบางรายการนั้นไม่เป็นความจริง ความจริงจำเลยที่ 3เขียนแบบแปลนมาให้โจทก์เลือกเอง โจทก์จึงเลือกเอาเฉพาะรายการที่ต้องการให้จำเลยที่ 1 ทำงาน รายการใดไม่ต้องการก็ตัดออกไปแต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำงานตามแบบแปลนและยังใช้วัสดุคุณภาพต่ำราคาไม่เกิน 150,000 บาทคุ้มกับเงินที่เบิกไปจากโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสามเป็นฝ่ายผิดสัญญา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน200,500 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยให้จำเลยที่ 3 รับผิดไม่เกิน 15,000 บาท ให้จำเลยรื้อถอนขนย้ายเครื่องเรือนของจำเลยที่บ้านโจทก์ออกไป หากไม่ปฏิบัติให้โจทก์รื้อถอนขนย้ายออกไปได้ โดยให้จำเลยร่วมกันเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 5,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสาม

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์จ้างจำเลยที่ 3 ออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อติดตั้งที่บ้านของโจทก์และจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จัดทำและติดตั้ง โดยจำเลยที่ 1เป็นผู้จัดหาวัสดุเอง จำเลยที่ 1 ทำเฟอร์นิเจอร์ให้โจทก์เสร็จได้บางส่วนและนำไปติดตั้งที่บ้านของโจทก์ เกิดการพิพาทขึ้นระหว่างโจทก์จำเลยว่า จำเลยที่ 1 ใช้วัสดุไม่ตรงตามข้อตกลง โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ใช้ไม้อัดสักแทนไม้สัก และส่วนที่จะต้องแกะสลักจำเลยที่ 1 ก็ใช้วัตถุสำเร็จรูปมาติดแทนที่ส่วนที่จะต้องสลักลงในเนื้อไม้จำเลยที่ 1 โต้เถียงว่า ตามแบบเดิมทำด้วยไม้สักจริง แต่จำเลยที่ 1คิดราคา 1,000,000 บาท เป็นราคาสูงมาก โจทก์กับจำเลยที่ 1ตกลงกันในที่สุดว่าบางส่วนใช้ไม้อักสักได้และลดรายการบางส่วนลงคงคิดราคา 590,000 บาทเศษ ระหว่างจำเลยที่ 1 ทำเฟอร์นิเจอร์อยู่นั้น โจทก์ควบคุมดูแลตลอดเวลา ไม่เคยทักท้วงจำเลย แต่ได้สั่งยกเลิกและแก้ไขบางรายการจนเหลือราคาค่าจ้างเพียง 548,900 บาทโจทก์ไม่เคยจ้างจำเลยที่ 3 ควบคุมการทำเฟอร์นิเจอร์ของจำเลยที่ 1ด้วย จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำเฟอร์นิเจอร์ให้โจทก์จำเลยที่ 3 ไปดูแลแนะนำการทำเฟอร์นิเจอร์ให้โจทก์บ้างเฉพาะกรณีมีปัญหา โจทก์ตกลงจะจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ในอัตราร้อยละสิบของค่าจ้างที่จ้างจำเลยที่ 1 คดีมีปัญหาในชั้นฎีกาว่ามีการตกลงเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 รับทำเฟอร์นิเจอร์ตามแบบที่จำเลยที่ 3เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งต้องใช้ไม้สักทั้งสิ้น ตามที่จำเลยอ้างว่ามีการเปลี่ยนแปลงวัสดุจากไม้สักเป็นไม้อัดสัดนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการแก้ไขแบบดังกล่าวด้วย จำเลยคงอ้างแต่ว่ามีการเขียนด้วยดินสอเท่านั้นโดยเฉพาะแบบฉบับของโจทก์ก็หาได้มีการแก้ไขไม่ ข้ออ้างของจำเลยจึงเลื่อนลอยไม่มีเหตุผล สำหรับฝ่ายโจทก์นั้นตามวิสัยของผู้ปลูกสร้างบ้าน ไม่ว่าเพื่อจะอยู่อาศัยเองหรือให้เช่า ย่อมต้องการเห็นความสำเร็จของตนเองโดยเร็ว หากได้มีการตกลงกับจำเลยที่ 1ให้เปลี่ยนแปลงวัสดุจริงแล้ว คงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับงานซึ่งจะเสร็จตามความต้องการของตนศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต่อโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 นั้นเป็นผู้มีอาชีพในทางออกแบบและควบคุมการดำเนินงานตบแต่ง เมื่อได้รับเขียนแบบให้แล้ว ถ้าไม่รับหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานด้วยแล้ว คงไม่ต้องมีตัวแทนมาดูแลการดำเนินงานของจำเลยที่ 1 ด้วย เชื่อว่าจำเลยที่ 3รับจ้างโจทก์ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1 ด้วย จำเลยที่ 3ละเลยไม่ควบคุมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดทำงานตามแบบที่ตนได้เขียนขึ้นจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายนั้น เห็นว่า จำเลยทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ตรงตามแบบแปลนและทำไม่แล้วเสร็จ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาและว่าจ้างผู้อื่นทำ ต้องว่าจ้างในราคาที่สูงขึ้น เพราะวัสดุมีราคาสูงขึ้นย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยแล้วส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า หากให้จำเลยรื้อเฟอร์นิเจอร์ออกไปจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมาก โจทก์ต้องรับเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวไว้และจ่ายค่าแรงให้จำเลยนั้น เห็นว่าจำเลยทำงานผิดแบบแปลน ใช้วัสดุคุณภาพต่ำไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์ โจทก์ย่อมปฏิเสธไม่ยอมรับงานของจำเลยได้ จำเลยจึงต้องรื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวออกไป แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายก็เกิดจากความผิดของฝ่ายจำเลยเอง ส่วนข้อที่จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้โจทก์ชำระเงินค่าออกแบบส่วนที่ยังขาดนั้นเห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย…”

พิพากษายืน.

สรุป

โจทก์จ้างจำเลยที่ 3 ควบคุมดูแล การทำงานของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ละเลยไม่ควบคุมให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดทำงานตามแบบที่ตนได้เขียนขึ้น จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำเฟอร์นิเจอร์ไม่ตรงตามแบบแปลนและทำไม่แล้วเสร็จ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาและว่าจ้างผู้อื่นทำต้องว่าจ้างในราคาที่สูงขึ้นเพราะวัสดุราคาสูงขึ้น ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยแล้ว การที่จะให้จำเลยรื้อเฟอร์นิเจอร์ออกไปจะทำให้จำเลยได้รับความเสียหายมาก โจทก์ต้องรับเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวไว้ และจ่ายค่าแรงให้จำเลยนั้นเมื่อจำเลยทำงานผิดแบบแปลน ใช้วัสดุคุณภาพต่ำไม่ตรงตามความประสงค์ของโจทก์โจทก์ย่อมปฏิเสธไม่ยอมรับงานของจำเลยได้ จำเลยจึงต้องรื้อถอนเฟอร์นิเจอร์ดังกล่าวออกไป แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายก็เกิดจากความผิดของฝ่ายจำเลยเอง จำเลยที่ 3 ฎีกาขอให้โจทก์ชำระเงินค่าออกแบบส่วนที่ยังขาดนั้นเมื่อฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 50,000 บาท และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ดังนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง.