สิทธิคิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดซี.ดี.ซี. (เซอร์เคิลดีไทยแลนด์) และเป็นผู้ประกันตนซึ่งได้จ่ายเงินสมทบครบเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย อันมิใช่เนื่องจากการทำงานแล้วเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2538 โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลเพชรเวช ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่กำหนดให้ใช้บริการด้วยอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน แพทย์รับไว้เป็นผู้ป่วยในโจทก์ไม่ได้แสดงบัตรรับรองสิทธิของโจทก์ต่อโรงพยาบาลเพราะสูญหายไปโจทก์พักรักษาตัวถึงวันที่ 22 กันยายน 2538 โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินค่ารักษาจำนวน 5,570 บาท ซึ่งโจทก์ชำระไปแล้ว ต่อมาโจทก์จึงยื่นคำร้องขอรับเงินดังกล่าวจากกองประโยชน์ทดแทน สำนักงานประกันสังคมแต่ได้รับการปฎิเสธ โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการดังกล่าวมีคำวินิจฉัยที่ 136/2539ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยอ้างว่าโจทก์ไม่แสดงบัตรรับรองสิทธิหรือสำเนาบัตรต่อโรงพยาบาลตามระเบียบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของกองประโยชน์ทดแทนที่ 129847/38 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 136/2539 โดยให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์จำนวน 5,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 กันยายน 2538 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ปฎิบัติตามระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการออกบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2535 ข้อ 13 โดยไม่แสดงบัตรรับรองสิทธิในขณะเข้ารับการรักษาพยาบาล โจทก์ทำบัตรรับรองสิทธิหายไปเป็นเวลานาน แต่ไม่ดำเนินการออกบัตรใหม่ถือว่าโจทก์ไม่ปฎิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบของสำนักงานประกันสังคมดังกล่าวจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ หากศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ สิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ก็เกิดขึ้นโดยคำพิพากษาของศาล จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเพราะถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของกองประโยชน์ทดแทนที่ 129847/38 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 136/2539และให้จำเลยจ่ายเงินจำนวน 5,570 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 24 เมษายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 58 วรรคสองบัญญัติว่า “รายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับบริการทางการแพทย์ที่ผู้ประกันตนหรือคู่สมรสของผู้ประกันตนจะได้รับให้เป็นไปตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ” และในเรื่องบัตรรับรองสิทธิของผู้ประกันตนในกรณีนี้ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมได้ออกระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วย การออกบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พ.ศ. 2535ซึ่งให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป โดยระบุเหตุผลในการออกระเบียบฉบับนี้ว่าเพื่อให้การออกหลักฐานรับรองสิทธิการไปขอรับบริการทางการแพทย์เกิดความสะดวกมีความคล่องตัวในการปฎิบัติงานและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยระเบียบฉบับนี้ได้กล่าวถึงวิธีการกำหนดให้จำเลยออกบัตรรับรองสิทธิไว้ในข้อ 7กำหนดแบบที่จะต้องใช้ในการยื่นคำขอต่าง ๆ และกำหนดวิธีปฎิบัติในการขอใบแทนบัตรรับรองสิทธิไว้ในข้อ 11 กำหนดอายุบัตรรับรองสิทธิไว้ในข้อ 12 และกำหนดให้แสดงบัตรทุกครั้งที่ไปรับบริการทางการแพทย์ในข้อ 13 แต่ไม่มีปรากฎตามมาตราใดในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 หรือในระเบียบฉบับนี้ว่า หากไม่แสดงบัตรรับรองสิทธิหรือไม่ไปขอออกใบแทนบัตรรับรองสิทธิกรณีบัตรสูญหายแล้ว ผู้ประกันตนจะเสียสิทธิอย่างไร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์เป็นผู้ที่ได้จ่ายเงินสมทบครบเงื่อนเวลาที่ก่อให้เกิดสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือป่วยเจ็บอันมิใช่เนื่องจากการทำงานและได้รับบัตรรับรองสิทธิมาแล้ว ทั้งได้เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเพชรเวชอันเป็นสถานพยาบาลที่กำหนดให้ใช้บริการ และจำเลยไม่ได้โต้แย้งจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลไป โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินตามฟ้องลำพังเพียงแต่โจทก์มิได้แสดงบัตรรับรองสิทธิเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลเพราะบัตรรับรองสิทธิสูญหายไป โดยโจทก์ได้ไปแจ้งความไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว และไม่ได้ไปขอออกใบแทนบัตรรับรองสิทธิเท่านั้น โจทก์หาสิ้นสิทธิที่จะได้รับเงินที่โจทก์ถูกสถานพยาบาลเรียกเก็บไปแล้วไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยอีกข้อที่ว่า การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 24 เมษายน 2539) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเงินที่เป็นประโยชน์ทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เป็นอำนาจของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคมหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งเลขาธิการมอบหมายตามกฎหมายให้เป็นผู้วินิจฉัยว่าจะจ่ายได้หรือไม่มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์วินิจฉัยได้เองว่าตนมีสิทธิได้รับตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอ ทั้งการที่พนักงานเจ้าหน้าที่วินิจฉัยปฎิเสธไม่จ่ายเงินดังกล่าวก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ และสิทธิการได้รับเงินค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีนี้เกิดจากคำพิพากษาถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัดดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในเงินดังกล่าวนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “หนี้เงินนั้น ท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น” และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้วและภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว” ซึ่งการเตือนในกรณีนี้ก็คือการทวงถามให้จำเลยชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับนั่นเอง เมื่อจำเลยไม่ชำระเงินตามที่โจทก์ทวงถามต้องถือว่าจำเลยผิดนัดแล้ว ในส่วนนี้ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าไม่ปรากฎว่าโจทก์ร้องขอเงินดังกล่าวครั้งแรกวันใด จึงกำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้องนั้นเป็นการวินิจฉัยชอบแล้ว เพราะการที่โจทก์ฟ้องคดีถือว่าเป็นการทวงถามจำเลยอยู่ในตัว เมื่อจำเลยไม่ชำระย่อมถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในจำนวนเงินดังกล่าวอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจึงชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน
สรุป
พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และระเบียบสำนักงานประกันสังคมว่าด้วยการออกบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ไม่มีมาตราใดหรือข้อใดในพระราชบัญญัติหรือระเบียบดังกล่าวกำหนดว่าหากไม่แสดงบัตรรับรองสิทธิหรือไม่ไปขอออกใบแทนบัตรรับรองสิทธิกรณีบัตรสูญหายแล้วผู้ประกันตนจะเสียสิทธิอย่างไร เมื่อโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินสมทบครบเงื่อนเวลามีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือป่วยเจ็บอันมิใช่เนื่องจากการทำงานและได้รับบัตรรับรองสิทธิแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงิน เพียงแต่โจทก์มิได้แสดงบัตรรับรองสิทธิเมื่อเข้ารับราชการรักษาเพราะบัตรสูญหายแต่โจทก์ได้แจ้งความและไม่ได้ไปขอออกใบแทน เท่านั้น โจทก์หาสิ้นสิทธิที่จะได้รับเงินไม่ ไม่ปรากฎว่า โอกาสร้องขอรับเงินประโยชน์ทดแทนเมื่อใดศาลชอบที่จะกำหนดดอกเบี้ยให้นับแต่วันฟ้อง เพราะการที่โจทก์ฟ้องคดีถือว่าเป็นการทวงถามอยู่ในตัว เมื่อจำเลยไม่ชำระถือได้ว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด ต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์