สิทธิบอกเลิกสัญญา กรณีก่อสร้างไม่ถูกแบบ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2156/2534
คดีสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกจำเลยสำนวนแรกและโจทก์สำนวนหลังว่า โจทก์ เรียกโจทก์สำนวนแรกและจำเลยที่ 1 สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 2 สำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526โจทก์ได้มีหนังสือเสนอราคาก่อสร้างบ้านพักของจำเลยตามแบบแปลนการก่อสร้าง รวมราคาวัสดุ และค่าแรงงานเป็นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 2,000,000 บาท โดยกำหนดสร้างเสร็จภายใน 270 วันนับแต่วันลงมือก่อสร้าง แบ่งงวดการชำระเงินค่าจ้างก่อสร้างออกเป็น 6 งวด ปรากฏว่าจำเลยได้ตกลงอนุมัติให้โจทก์ทำการก่อสร้างบ้านพักจำเลยได้ตามข้อเสนอของโจทก์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2526 โดยให้ทำการก่อสร้างบ้านพักลงบนที่ดินของจำเลยโฉนดเลขที่ 38025 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวากรุงเทพมหานคร นอกจากนี้จำเลยยังว่าจ้างให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อเติมรายการพิเศษนอกเหนือไปจากการตกลงก่อสร้างบ้านพักอีกรวม 35 รายการ คิดเป็นค่าก่อสร้าง 131,135 บาท โจทก์ได้ทำการก่อสร้างบ้านพักให้จำเลยตามขั้นตอน และได้เรียกเก็บเงินค่าจ้างก่อสร้างจากจำเลยมาแล้วรวม 4 งวด คือ งวดที่ 1 ถึงที่ 4 รวมเป็นเงิน 1,050,000 บาท โจทก์ได้ทำการก่อสร้างงานตามงวดที่ 5 แล้วเสร็จ แต่จำเลยยังไม่ได้ชำระเงินค่างวดจำนวน 450,000 บาท ให้แก่โจทก์ นอกจากนี้โจทก์ยังได้ทำงานในงวดที่ 6 ต่อมาอีก คิดเป็นเงินค่าจ้างจำนวน 200,000 บาทและโจทก์ได้ทำการก่อสร้างต่อเติมรายการพิเศษแล้วเสร็จทั้ง35 รายการ ซึ่งจำเลยจะต้องชำระเงินให้โจทก์อีก 131,135 บาทด้วย รวมเป็นเงิน 781,135 บาท โจทก์ยังคงก่อสร้างบ้านพักให้จำเลยต่อไปจนถึงขณะนี้ จำเลยจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2527 จนถึงวันฟ้อง คิดเป็นดอกเบี้ย 7,323 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ทั้งสิ้น 788,458 บาท ขอให้จำเลยใช้เงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาตั้งแต่งวดที่ 5กล่าวคือ ยังทำงานไม่แล้วเสร็จตามงวด โจทก์ก็ขอเบิกค่าจ้างงวดที่ 5 โจทก์ทำผิดแบบแปลน จำเลยให้แก้ไขโจทก์ไม่ยอมแก้ไขและยังใช้วัสดุอุปกรณ์ผิดจากที่กำหนดไว้ในแบบแปลนรายการพิเศษที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยไม่ได้ว่าจ้างให้โจทก์ทำการก่อสร้างเลยมีเพียง 2-3 รายการเท่านั้นที่จำเลยอนุมัติให้ทำการก่อสร้างได้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยได้เลยเพราะโจทก์ผิดสัญญา จำเลยได้ให้โจทก์แก้ไขงานที่ผิดแบบงวดที่ 5แต่โจทก์ไม่จัดการแก้ไข กลับละทิ้งงานและหยุดการก่อสร้างงวดที่ 6 จำเลยต้องจัดการแก้ไขงานงวดที่ 5 สิ้นเงินไป 184,200บาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในค่าก่อสร้างงวดที่ 5 และที่ 6จำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ไปแล้ว 4 งวดมากกว่าค่าของงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2526โจทก์ได้จ้างจำเลยทั้งสองก่อสร้างบ้านพักอาศัยให้โจทก์ตามใบเสนอราคาของจำเลยที่ 2 และตามแบบแปลนแผนผังที่โจทก์เป็นผู้กำหนดออกแบบ ในราคา 2,000,000 บาท กำหนดเวลาก่อสร้างให้เสร็จภายใน 270 วัน นับแต่วันลงมือทำการ จ่ายเงินตามงวดของงานรวม 6 งวด จำเลยทั้งสองได้เริ่มลงมือทำการก่อสร้างบ้านให้โจทก์เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2527 และได้รับชำระเงินค่างวดงานไปแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 1,050,000 บาท ต่อมาระหว่างการก่อสร้างงานงวดที่ 5 นอกจากทำไม่เสร็จแล้วจำเลยยังทำผิดแบบแปลนแผนผัง14 รายการ โจทก์ได้ขอให้จำเลยแก้ไข จำเลยไม่ปฏิบัติตามโจทก์มีหนังสือแจ้งเตือนไปและบอกเลิกสัญญา โจทก์ได้จ้างบุคคลอื่นมาทำการแก้ไขสิ้นเงินไป 184,200 บาท ความเสียหายที่เกิดจากการเลิกสัญญาซึ่งเป็นงานงวดที่ 6 ยังต้องมีงานก่อสร้างเพื่อให้แล้วเสร็จตามโครงการ 13 รายการ โจทก์ต้องจ้างคนอื่นมาทำการก่อสร้างต่อในงวดที่ 6 จะต้องเสียค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 814,800 บาท เดิมจำเลยคิดราคางานในงวดที่ 6นี้เป็นเงิน 500,000 บาท โจทก์จึงได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น314,800 บาท การที่โจทก์ไม่ได้ใช้ประโยชน์ทันตามกำหนดสัญญานับแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2527 ทำให้โจทก์ขาดรายได้ รวมเป็นเงิน30,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 529,000 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา กล่าวคือการก่อสร้างในงวดที่ 5 แล้วเสร็จภายในเวลาตามข้อตกลง ปรากฏว่าโจทก์ไม่ยอมชำระค่าจ้างจำนวน 450,000 บาท แก่จำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงก่อสร้างบ้านพักโจทก์ต่อไป นอกจากนั้นโจทก์ยังได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างต่อเติมรายการพิเศษนอกเหนือไปจากข้อตกลงอีก รวม 35 รายการ คิดเป็นเงิน131,135 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ทำการต่อเติมให้โจทก์เสร็จเรียบร้อยตามที่ตกลงกันแล้ว โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมชำระค่าต่อเติมให้แก่จำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายงานงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างให้โจทก์เรียบร้อยแล้วจำเลยไม่ได้ก่อสร้างไปโดยพลการหรือผิดแบบแปลนตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายต่าง ๆ จำนวน 529,000 บาท จากจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างเพิ่มเติมเป็นเงิน 184,200 บาท จากจำเลยที่ 1 ได้โจทก์ยังได้ทำบันทึกหลักฐานการยอมรับสภาพการค้างชำระหนี้ค่าจ้างในงวดที่ 5ต่อจำเลยและคำยืนยันของโจทก์ที่ประสงค์ให้จำเลยดำเนินการก่อสร้างบ้านพักให้แก่โจทก์ต่อไป ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 9 ส่วนงานงวดที่ 6 โจทก์ไม่มีอำนาจจ้างคนอื่นมาทำงานต่อเพราะจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ยังเป็นหนี้จำเลยในค่าจ้างงวดที่ 5 อีก 450,000 บาท และงานงวดที่ 6จำเลยที่ 1 ก็ยังคงทำการก่อสร้างให้โจทก์ต่อไปบางส่วนเป็นเงินไม่น้อยกว่า 200,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิ์ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 30,000 บาท
จำเลยที่ 2 ให้การว่า สัญญาว่าจ้างก่อสร้างบ้านพักโจทก์เป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 380,000 บาทให้จำเลยที่ 1 พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2528 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความ3,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อที่สามมีว่า จำเลยที่ 1ผิดสัญญาโดยก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ผิดแบบแปลน และไม่ก่อสร้างงานงวดที่ 5 ที่ 6 ภายในกำหนดสัญญาหรือไม่และจำเลยที่ 1 สมควรได้ค่าจ้างในงานงวดที่ 5 ที่ 6 เพียงใดหรือไม่ในข้อนี้ได้ความจากตัวโจทก์และนายมะเดื่อพยานโจทก์ผู้รับเหมาสร้างบ้านพิพาทต่อจากจำเลยที่ 1นายแตงโม ผู้ควบคุมงานพยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 1ก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 บกพร่องหลายประการ แต่นายแตงโมเองก็เบิกความรับว่า เมื่อโจทก์ได้จ่ายเงินค่าจ้างก่อสร้างในงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 แล้วก็ถือว่าจำเลยที่ 1ก่อสร้างงานดังกล่าวครบถ้วน ทั้งในข้อนี้ตัวจำเลยที่ 2 นายมะนาวษกรและนายทับทิมผู้ควบคุมงานก่อสร้างของจำเลยที่ 1ก็เบิกความสนับสนุนตรงกันว่าได้ก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4รวมทั้งงวดที่ 5 ครบถ้วนแล้ว ปรากฏตามหนังสือขอเก็บเงินเอกสารหมาย ล.5 ถึง ล.8 จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว ส่วนงานก่อสร้างงวดที่ 5 ที่ 6 นั้นโจทก์เบิกความว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 5 ผิดแบบแปลนตามเอกสารหมาย จ.15 และไม่สร้างให้เสร็จภายในเวลา 270 วัน ตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 โจทก์ให้แก้ไขตามหนังสือเอกสารหมาย จ.12 จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม โจทก์จึงส่งหนังสือเอกสารหมาย จ.10 มีใจความว่า ให้จำเลยที่ 1 แก้ไขภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2527 มิฉะนั้นถือว่าสัญญาก่อสร้างเป็นอันระงับ ในข้อที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 5 ผิดแบบแปลนนั้น เห็นว่า โจทก์รับว่าปกติตัวโจทก์และนายแตงโมลูกจ้างโจทก์คอยควบคุมดูแลงานก่อสร้างของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ถ้าหากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างผิดแบบแปลนและวัตถุประสงค์ โจทก์ก็น่าที่จะให้จำเลยที่ 1 แก้ไขได้ทันทีทั้งจำเลยที่ 1 ก็นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างงานงวดที่ 5เสร็จตามแบบแปลนแล้ว แต่โจทก์ไม่ยินยอมจ่ายเงินค่าจ้างให้เพราะจำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินงวดที่ 5 หลังจากรับเงินค่างวดที่ 4เพียง 1 เดือน ผลที่สุดโจทก์กับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2เจรจาตกลงกันให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 6 บางรายการคือ ปูฝาผนังและพื้นไม้ปาร์เกต์ โดยยังไม่ต้องขัดและไม่ต้องติดบัว แล้วโจทก์จะจ่ายเงินงวดที่ 5 ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย ล.11 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างให้แล้ว นอกจากนั้นจำเลยที่ 1 ยังทำงานงวดที่ 6 บางส่วนคิดเป็นเงินประมาณ200,000 บาท พิเคราะห์เอกสารหมาย ล.11 ลงวันที่ 27 ตุลาคม2527 ซึ่งโจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงนามท้ายเอกสาร ในข้อ 1มีข้อความว่า “การจ่ายเงินงานงวดที่ 5 จะต้องปูฝาผนังทั้งหมดและปูพื้นปาร์เกต์แต่ยังไม่ขัดและยังไม่ติดบัว โดยจะจ่ายให้450,000 บาท เมื่อเสร็จภายใน 3 วัน” และในข้อ 2 มีข้อความว่า”หลังจากจ่ายงวดที่ 5 แล้ว ให้ถือไปเป็นตามสัญญาเดิมจนกว่างานจะแล้วเสร็จและส่งงาน” ใจความในเอกสารหมาย ล.11 แสดงถึงการที่โจทก์รับทราบถึงผลงานงวดที่ 5 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้สร้างไว้แต่หากตกลงกันว่าโจทก์จะจ่ายเงินต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ปูฝาผนังทั้งหมดและปูพื้นไม้ปาร์เกต์แล้ว ซึ่งโจทก์และจำเลยที่ 1รับกันว่าเป็นงานงวดที่ 6 ไม่ใช่เป็นงานงวดที่ 5 ตามที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.3 และปกติต้องใช้เวลาก่อสร้างนานพอสมควรข้อความในข้อ 1 จึงหมายถึงว่า เมื่อโจทก์ปูฝาผนังและพื้นไม้ปาร์เกต์เสร็จ โจทก์จะจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 ภายในเวลา 3 วันไม่ได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 จะต้องปูฝาผนังและพื้นไม้ปาร์เกต์ให้เสร็จภายในเวลา 3 วัน ดั่งที่โจทก์อ้างในฎีกา นอกจากนี้เอกสารหมาย ล.11 ได้กระทำภายหลังวันที่ 15 ตุลาคม 2527อันเป็นวันครบกำหนดก่อสร้างภายในเวลา 270 วัน ตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 และภายหลังวันที่ 26 ตุลาคม 2527 ซึ่งโจทก์มีหนังสือเร่งงานก่อสร้างเอกสารหมาย จ.12 มีใจความอ้างว่าโจทก์ไม่ได้ต่ออายุสัญญาให้จำเลยที่ 1 เมื่อประกอบกับข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 ไม่ได้ระบุให้สิทธิในการบอกเลิกสัญญากันไว้แม้จะกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนก็ตาม แต่ตามพฤติการณ์ของคู่กรณีและใจความในข้อตกลงเอกสารหมาย ล.11 ก็แสดงให้เห็นว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาชำระหนี้ภายใน270 วัน ตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 เป็นข้อสำคัญ ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387ซึ่งถ้าหากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านพิพาทไม่ถูกแบบแปลนตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 และ ล.11 โจทก์ก็ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ลงมือก่อสร้างต่อไปโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 แก้ไข ถ้าหากจำเลยที่ 1 ไม่ได้แก้ไขโจทก์จึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แม้ปรากฏตามข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.10 ถึงจำเลยที่ 1 ใจความว่าให้จำเลยที่ 1 เร่งงานปูพื้นไม้ปาร์เกต์และแก้ไขข้อบกพร่องในงานก่อสร้างภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2527 มิฉะนั้นจะถือว่าสัญญาก่อสร้างเป็นอันระงับก็ตาม แต่โจทก์ก็เบิกความรับว่าเมื่อโจทก์จะบอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ก็เร่งเอาคนงานหลายคนมาปูพื้นไม้ปาร์เกต์จนเสร็จ แล้วจำเลยที่ 1 ก็ขอเก็บเงินซึ่งเจือสมกับเอกสารหมาย ล.21 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2527ซึ่งจำเลยที่ 1 ส่งถึงโจทก์มีใจความว่าให้โจทก์เลือกลายไม้ปาร์เกต์และเอกสารหมาย ล.22 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2527 ซึ่งจำเลยที่ 1ส่งถึงโจทก์เช่นกันมีใจความว่า จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างงานงวดที่ 5 เสร็จแล้ว จึงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างงานงวดที่ 5 และงานตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.11 ลงวันที่ 27ตุลาคม 2527 ให้โจทก์แล้ว แม้ปรากฏจากรายงานการเดินเผชิญสืบบ้านพิพาทของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 23กรกฎาคม 2528 ว่า งานก่อสร้างงวดที่ 5 บางส่วนยังไม่เรียบร้อยกล่าวคือ จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ฝังท่อร้อยสายไฟฟ้าที่ข้างฝาหน้าบันไดด้านใน คงมีแต่สวิตซ์ไฟฟ้า และมีท่อร้อยสายไฟฟ้าวางอยู่ข้างบันไดทางขึ้นโดยไม่ได้ฝังไว้ภายในพื้นปูน นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ติดตั้งปลั๊กไฟฟ้าหน้าประตูเข้าห้องนอนชั้น 4 และยังไม่ได้เดินสายไฟฟ้าจากหน้าบ้านเข้าตัวบ้านพิพาทส่วนงานปูพื้นปาร์เกต์นั้น จำเลยที่ 1 ทำแล้ว แต่ใช้ไม้ผิดขนาดคือไม่ถึง 2″ 12″ บ้าง และการปูกระเบื้องเคลือบที่ฝาผนังห้องน้ำ จำเลยที่ 1 ได้ทำแล้ว โดยใช้สีคนละชนิดแต่คล้ายกันประมาณ 10 แผ่น ก็ตาม เห็นว่าเป็นความบกพร่องเล็กน้อย ส่วนงานงวดที่ 5 อย่างอื่นที่โจทก์นำสืบอ้างว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างไม่เรียบร้อยนั้น จำเลยที่ 1 ก็ได้นำสืบและแถลงปรากฏในรายงานการเดินเผชิญสืบแสดงเหตุผลไว้แล้วว่า ไม่ใช่เกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 แต่หากเป็นเพราะโจทก์สั่งให้ทำข้ออ้างของจำเลยที่ 1 มีเหตุผล เพราะถ้าหากโจทก์หรือคนคุมงานของโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ก่อสร้างงานงวดที่ 5 ก็น่าจะบันทึกในเอกสารหมาย ล.11 และ จ.10 ให้ชัดเจนเพื่อให้จำเลยที่ 1 แก้ไขให้เสร็จก่อนจ่ายเงินนอกจากนั้นเห็นว่าข้อตกลงเอกสารหมาย ล.11 ยังแสดงเจตนารมณ์ของโจทก์และจำเลยที่ 1 ที่จะให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างงานงวดที่ 6 บางส่วนคือการปูฝาผนังและปูพื้นไม้ปาร์เกต์เป็นงานงวดที่ 5 เพิ่มเติมเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างงาน งวดที่ 5 พร้อมทั้งปูฝาผนังและปูพื้นไม้ปาร์เกต์ ตามข้อตกลงและโจทก์รับมอบงานจากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิได้รับเงินค่างวดที่ 5จากโจทก์เต็มจำนวน ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1ได้รับค่าจ้างก่อสร้างงานงวดที่ 5 จากโจทก์เฉพาะบางส่วนศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นในส่วนนี้มีปัญหาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าก่อสร้างงานงวดที่ 6เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าได้ก่อสร้างงานงวดที่ 6 นอกจากงานที่ระบุในข้อตกลงเอกสารหมาย ล.11ในส่วนใดไปบ้าง เมื่อฟังได้ว่าโจทก์จำเลยที่ 1 สมัครใจนำงานปูฝาผนังและงานปูพื้นไม้ปาร์เกต์อันรับกันว่าเป็นงานงวดที่ 6 มาก่อสร้างเป็นงานงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างในงานงวดที่ 6 อีก”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 450,000 บาทให้จำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป
หลังจากครบกำหนดเวลาก่อสร้างตามข้อตกลงหมาย ล.3จำเลยที่ 1 ยังก่อสร้างบ้านไม่เสร็จ แม้ว่าข้อตกลงตามเอกสารดังกล่าวจะกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอนก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ระบุให้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา ทั้งโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำข้อตกลงหมาย ล.11 ให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างต่อไป แสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ต่างไม่ถือเอากำหนดเวลาในการก่อสร้างตาม ข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 เป็นข้อสำคัญ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านไม่ถูกแบบแปลนโจทก์ต้องบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ลงมือก่อสร้างโดยกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 แก้ไข ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่แก้ไข โจทก์จึงจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ได้