สิทธิบอกเลิกสัญญา ที่ศาลฎีกาวางหลักไว้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย

สิทธิบอกเลิกสัญญา ที่ศาลฎีกาวางหลักไว้ในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2524

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารที่พักและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของกรมนาวิกโยธินที่อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรีจำเลยที่ 4 ได้เข้าค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นเงินไม่เกิน 125,000 บาท สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างแบ่งการจ่ายเงินเป็น 7 งวด จำเลยที่ 1 ได้ทำการก่อสร้างและส่งมอบงานให้โจทก์ถูกต้องแล้ว 4 งวด ได้รับเงินไป 1,920,000 บาท งานก่อสร้างงวดที่ 5 จำเลยมิได้ทำการก่อสร้างให้ถูกต้องตามสัญญาและมิได้แก้ไขให้ถูกต้องกล่าวคือ ตามสัญญาระบุว่า เฉพาะบานประตูหน้าต่างภายในและพื้นทับด้วยแลคเกอร์ด้าน พื้นลงขี้ผึ้งทับอีกครั้งหนึ่ง แต่จำเลยที่ 1 กลับทาสีเทาที่บานประตูหน้าต่างทั้งภายในและภายนอกคณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์ไม่ยอมรับมอบงานงวดที่ 5 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแพ่งฐานผิดสัญญา ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงได้มีหนังสือถึงจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาต่อมาโจทก์ได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้าง ทำการก่อสร้างงานต่าง ๆ ที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำค้างอยู่เป็นเงิน 2,000,000 บาทได้ส่งมอบงานและรับเงินค่าจ้างดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญามีเงินเหลือจ่ายอยู่ 3 งวดเป็นเงิน 1,474,400 บาท โจทก์จ้างเหมาผู้รับจ้างรายใหม่เกินจำนวนเงินที่เหลือจ่ายไป525,600 บาท จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ตามสัญญาข้อ 6และต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับวันละ 417 บาท จนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จตามสัญญาข้อ 5 ถ. ซึ่งครบกำหนดในวันที่ 9 ธันวาคม 2517 และถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2517 จำเลยที่ 1 จะต้องถูกปรับตั้งแต่วันผิดสัญญาถึงวันที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้างส่งมอบงานรวม 766 วัน เป็นเงินค่าปรับ319,422 บาท รวมเป็นค่าเสียหายและค่าปรับเป็นเงินทั้งสิ้น 845,022 บาท จำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดร่วมด้วย ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 845,022 บาท ให้จำเลยที่ 4 ใช้เงิน 125,000 บาท และให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจ้างเหมาและเพิ่มเติมสัญญาจ้างเหมารวมเป็นเงิน 3,394,400 บาท โดยแบ่งงวดงานและการจ่ายเงินค่าจ้างเป็น 7 งวด จำเลยทำการก่อสร้างตามสัญญาแล้วเสร็จ 5 งวด โจทก์รับมอบงานและจ่ายเงินให้จำเลยแล้ว 4 งวด เป็นเงิน 1,920,000 บาท ส่วนงานก่อสร้างงวดที่ 5 เป็นเงิน 608,000 บาท คณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์ไม่ยอมรับมอบงานโดยอ้างว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาเกี่ยวกับการทาสีประตูหน้าต่างอาคารที่ก่อสร้างซึ่งจำเลยได้ทำถูกต้องตามสัญญาแล้ว การทาสีเป็นผลดีแก่โจทก์และมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการไม่ทาสีแต่โจทก์ตีความสัญญาด้วยเจตนาไม่สุจริตว่า ไม่ต้องทาสีและไม่ยอมตรวจรับงาน ไม่จ่ายเงินงวดที่ 5 ให้จำเลย ทั้ง ๆ ที่โจทก์รับเอางานก่อสร้างงวดที่ 5 รวมทั้งการทาสีไว้ใช้ประโยชน์โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญาและฟ้องโจทก์ฐานผิดสัญญา ให้จ่ายเงินค่าก่อสร้างแก่จำเลย 608,000 บาท งานก่อสร้างที่จะต้องทำต่อไปในงวดที่ 6 ที่ 7 รวม 2 งวดเป็นเงิน 866,400 บาท โจทก์ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้าง ทำการก่อสร้างเป็นเงิน 2,000,000 บาทเป็นการจ้างที่แพงกว่าที่เป็นจริงจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นจึงไม่ต้องรับผิด ส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าปรับรายวันนั้น โจทก์มีเจตนาไม่สุจริตทำการจ้างเหมาผู้รับจ้างรายใหม่หลังจากวันที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ถึง 217 วันและได้ให้เวลาแก่ผู้รับจ้างรายใหม่ถึง 180 วัน ซึ่งเกินกว่าจำนวนงานที่เหลือในงวดที่ 6 ที่ 7 เพราะสัญญาของจำเลย 7 งวดเวลาทำการเพียง 300 วัน คิดเฉลี่ยงวดละ 43 วัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับจากจำเลย คดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้จริง จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน มิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญา ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา และต้องรับผิดในเงินค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นที่โจทก์ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้างดำเนินงานต่อจนเสร็จ จำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย โจทก์ได้รับค่าเสียหายเต็มจำนวนแล้วจะเรียกร้องเบี้ยปรับอีกไม่ได้จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 525,600 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระให้จำเลยที่ 4 ชำระแทนในวงเงินไม่เกิน 125,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาต้องใช้ค่าเสียหายที่โจทก์จ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้างเพิ่มขึ้น 525,600 บาท โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับรายวันจากจำเลยที่ 1 ได้ โดยให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ตั้งแต่วันผิดสัญญาถึงวันก่อนโจทก์บอกเลิกสัญญา 1 วันเป็นเงิน 236,856 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 762,456 บาทพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 762,456 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ฎีกา ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ปรากฏตามคำแก้ฎีกาของโจทก์ว่า คดีที่จำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยอ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่จ่ายเงินค่าจ้างงวดที่ 5 นั้น ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นเป็นฝ่ายผิดสัญญา คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น และผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเกี่ยวกับการทาสีบานประตูหน้าต่างภายในตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ 4.18 เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 งานก่อสร้างที่จำเลยที่ 1 ทำค้างไว้โจทก์ต้องเรียกประมูลก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จ ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้างเป็นผู้ประมูลได้ในราคา 2,000,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้างได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยตามสัญญา โจทก์ได้จ่ายเงินให้ไปแล้ว เมื่อโจทก์นำเงินค่างานงวดที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่จำเลยที่ 1 ทำค้างไว้ รวมเป็นเงินเหลือจ่ายทั้งสิ้น 1,474,400 บาทคิดหักกับเงินที่โจทก์ต้องจ่ายให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดทวีสินก่อสร้าง จำนวน 2,000,000 บาทจึงเป็นเงินที่โจทก์จ้างเพิ่มไปจากสัญญาที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 525,600 บาท อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 3 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ให้แก่โจทก์ ในประเด็นเรื่องเบี้ยปรับรายวัน ตามฟ้องโจทก์กล่าวว่างานงวดที่ 5 จำเลยที่ 1ทำการไม่ถูกต้องตามสัญญา กล่าวคือ การทาสีประตูหน้าต่างของอาคารตามสัญญาระบุว่า เฉพาะบานประตูหน้าต่างภายในและพื้นทับด้วยแลคเกอร์ด้าน พื้นลงขี้ผึ้งทับอีกครั้งหนึ่งแต่จำเลยที่ 1 กลับทาสีเทาที่บานประตูหน้าต่างภายในและภายนอกอันเป็นการผิดข้อกำหนดในสัญญาข้อ 4.18 โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1ดังนั้นเมื่อศาลฟังว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทาสีไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญาข้อ 4.18 แล้ว ศาลจะฟังเลยไปถึงว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อสร้างไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายใน 300 วันตามข้อกำหนดในสัญญาข้อ 5 หาได้ไม่ เพราะการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ได้อาศัยเหตุดังกล่าว โจทก์จึงใช้สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับเป็นรายวันตามที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ 5(ก) หาได้ไม่ พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

สรุป

คดีก่อนจำเลยที่ 1 ได้ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยฐานผิดสัญญาและให้จ่ายเงินค่าก่อสร้างงวดที่ 5 เป็นเงิน608,000 บาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้น และผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ 3ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อเท็จจริงในคดีนี้จึงฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาเกี่ยวกับการทาสีบานประตูหน้าต่างภายในตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง การที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาทำให้โจทก์ต้องจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. ทำการก่อสร้างเป็นเงินเพิ่มไปจากเดิมที่ทำไว้กับจำเลยที่ 1 จำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นนี้ถือเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดชดใช้ให้โจทก์ โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยที่ 1 ทาสีไม่ถูกต้องตามข้อกำหนดในสัญญา ไม่ได้อาศัยเหตุที่ว่า จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายใน 300 วัน โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเบี้ยปรับรายวันหาได้ไม่