สิทธิยึดหน่วงค่าจ้างที่ค้างชำระ ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนนั้นพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ติดตั้งเครื่องแล้ว ระบบไม่สามารถทำงานได้ต้องคอยแก้ไขอยู่เสมอ แม้ขณะนี้โจทก์ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้ จำเลยย่อมมีสิทธิยึดหน่วงราคาสินค้าตามฟ้องไว้ และเมื่อจำเลยยังไม่ได้รับมอบสินค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องราคาที่ยังไม่ได้ชำระ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยที่คำนวณถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 36,305.50 บาท ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยสั่งซื้อและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งวัสดุ อุปกรณ์ ส่วนประกอบของระบบสัญญาณป้องกันภัยที่สำนักงานของจำเลยในราคา 807,208 บาท โดยวางมัดจำไว้ 226,320 บาท ตามใบสั่งซื้อเอกสารหมาย จ. 4 พนักงานของโจทก์ใช้เวลาติดตั้งรวม 14 ครั้ง นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2540 จนถึงวันที่ 2 กันยายน ปีเดียวกันตามรายงานเอกสารหมาย จ. 5 แต่หลังจากยื่นฟ้องจำเลยให้ชำระราคาสินค้าอีก 580,888 บาท เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2541 แล้วพนักงานของโจทก์ยังต้องเข้าไปตรวจสอบแก้ไขระบบสัญญาณป้องกันภัยที่บริษัทจำเลยอีก 7 ครั้ง นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2542 จนถึงวันที่ 19 สิงหาคม ปีเดียวกันตามรายงานเอกสารหมาย จ. 10 โดยคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงร่วมกันตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ วันที่ 28 เมษายน และวันที่ 2 กรกฎาคม 2542 ว่า การทำงานของระบบสัญญาณป้องกันภัยมีปัญหาทางฝ่ายโจทก์เข้าไปดำเนินการแก้ไขแล้ว จึงถือได้ว่ามีความชำรุดบกพร่องบางส่วนที่โจทก์ยังต้องแก้ไขให้สำเร็จลุล่วงไป ก่อนส่งมอบงานที่จำเลยสั่งซื้อและว่าจ้างให้โจทก์ติดตั้งดังกล่าว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยซึ่งเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงราคารวมทั้งสินจ้างที่ยังไม่ได้ชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 488 และ 599 ได้หรือไม่ โดยโจทก์กล่าวอ้างในฎีกาว่า เมื่อจำเลยเป็นหนี้ราคาสินค้าและสินจ้างติดตั้งระบบสัญญาณป้องกันภัย ขณะที่โจทก์เป็นหนี้ค่าเสียหายที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 380,000 บาท โจทก์ย่อมมีสิทธิขอหักกลบลบหนี้กับราคาสินค้าและสินจ้างตามฟ้องซึ่งเป็นหนี้เงินตามสัญญาต่างตอบแทน จำเลยจึงต้องชำระเงิน 380,000 บาท แก่โจทก์นั้น เห็นว่า นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 461 จะกำหนดว่า ผู้ขายจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งขายนั้นให้แก่ผู้ซื้อแล้ว มาตรา 486 ยังกำหนดด้วยว่า ผู้ซื้อจำต้องรับมอบทรัพย์สินที่ตนได้รับซื้อและใช้ราคาตามข้อสัญญาซื้อขาย เมื่อสัญญาซื้อขายมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติการชำระหนี้ของตนในคราวเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติดังเช่นกรณีตามฟ้องนั้น นอกจากมาตรา 472 จะกำหนดว่าผู้ขายต้องรับผิดแล้ว มาตรา 488 ยังบัญญัติรับรองสิทธิของผู้ซื้อที่พบเห็นความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งตนได้รับซื้อไว้ว่าชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระด้วย เช่นเดียวกับมาตรา 599 ในลักษณะจ้างทำของที่กำหนดว่า ในกรณีที่ส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่อง ผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทรัพย์สินที่โจทก์ขายและรับจ้างติดตั้งให้แก่จำเลยดังกล่าวนั้นยังชำรุดบกพร่องเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดแก้ไขตามหน้าที่ของผู้ขายเช่นนี้ โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคาที่ยังไม่ได้ชำระรวมทั้งสินจ้างอีก 580,888 บาท จนกว่าโจทก์จะแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นให้สิ้นไปหรือหาประกันที่สมควรให้แก่จำเลยได้ตามมาตรา 488 หรือจะให้ประกันแก่จำเลยผู้ว่าจ้างตามสมควรตามความในมาตรา 599 เสียก่อน แม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งจำนวนค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดแก่โจทก์ แต่ก็อุทธรณ์อ้างสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระโดยมีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมายและศาลอุทธรณ์ก็พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่มีหนี้ที่โจทก์อาจขอหักกลบจากจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ
สรุป
จำเลยสั่งซื้อและว่าจ้างโจทก์ติดตั้งระบบสัญญาป้องกันภัยที่สำนักงานของจำเลย เมื่อสัญญาซื้อขายมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทน คู่สัญญาจึงมีหน้าที่ต้องระมัดระวังในการปฏิบัติการชำระหนี้ของตนในคราวเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 461 และ 486 เมื่อระบบสัญญาณป้องกันภัยที่โจทก์ติดตั้งยังมีความชำรุดบกพร่องบางส่วนอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 472 แล้ว ตามมาตรา 488 ยังบัญญัติรับรองสิทธิของจำเลยซึ่งเป็นผู้ซื้อชอบที่จะยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระด้วยเช่นเดียวกับมาตรา 599 ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยใช้ราคาที่ยังไม่ได้ชำระแก่โจทก์จนกว่าโจทก์จะแก้ไขความชำรุดบกพร่องนั้นให้สิ้นไป หรือหาประกันที่สมควรให้แก่จำเลยได้ตามมาตรา 488 หรือจะให้ประกันแก่จำเลยผู้ว่าจ้างตามสมควรตามมาตรา 599 เสียก่อน แม้จำเลยจะมิได้โต้แย้งจำนวนเงินที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์จำนวน 380,000 บาท แต่จำเลยยังอุทธรณ์อ้างสิทธิยึดหน่วงราคาโดยมีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย และศาลอุทธรณ์ก็พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่มีหนี้ที่โจทก์อาจขอหักกลบจากจำเลยได้