หลักการนับอายุความ เรื่องความชำรุดบกพร่อง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

หลักการนับอายุความ เรื่องความชำรุดบกพร่อง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1248/2504

โจทก์ฟ้องว่า กรมโยธาเทศบาลเรียกประกวดราคาสร้างสะพาน จำเลยเป็นผู้ประกวดได้ โจทก์ที่ ๒ โดยอนุมัติของกรมโยธาเทศบาลและได้รับอนุญาตจากโจทก์ที่ ๑ จึงทำสัญญาก่อสร้างสะพานกับจำเลยๆ ก่อสร้างไม่เรียบร้อยตามสัญญา โจทก์ไม่ยอมรับมอบสะพาน การก่อสร้างชะงักอยู่จนถูกน้ำและสวะปะทะพังลง ตามสัญญาจำเลยเป็นผู้จัดหาสัมภาระสะพานพังก่อนส่งมอบโดยมิใช่การกระทำของโจทก์ สินจ้างเป็นอันไม่ต้องใช้ แต่ในระหว่างก่อสร้าง จำเลยได้รับเงินค่าจ้างเหมาไป ๓๔๗,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ย

จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างสะพานตามฟ้องจริง แต่โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ใช่คู่สัญญา และโจทก์ที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทก์ที่ ๑ เพราะไม่ใช่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ที่ ๑ คดีขาดอายุความแล้วจำเลยไม่ผิดสัญญา ผู้ว่าจ้างได้ตรวจรับงานและได้จ่ายค่าจ้างให้เป็นงวดๆ แล้ว สะพานพังลงโดยภัยธรรมชาติและความผิดของผู้ว่าจ้างเอง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขอค้านของจำเลยเรื่องอำนาจฟ้องฟังไม่ขึ้น เรื่องนี้เป็นสัญญาจ้างทำของ จำเลยเป็นผู้จัดหาสัมภาระ สะพานพังลงก่อนรับมอบกัน ความวินาศมิได้เป็นเพราะการกระทำของโจทก์ สินจ้างเป็นอันไม่ต้องใช้ โจทก์จ่ายสินจ้างไปแล้วจึงมีสิทธิเรียกคืนได้ แต่คดีขาดอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๑ แล้ว และการเรียกสินจ้างที่จ่ายล่วงหน้าคืนเป็นเรื่องลากมิควรได้ คดีจึงขาดอายุความตามมาตรา ๔๑๙ ด้วย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ ในฐานะปลัดจังหวัดรักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจเซ็นคำฟ้องแทนผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งกรมโยธาฯ โจทก์ที่ ๑ ได้มอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องแทน แต่ไม่มีอำนาจฟ้องในฐานะส่วนตัว คดียังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๑ และไม่ใช่กรณีลาภมิควรได้ ไม่ขาดอายุความตามมาตรา ๔๑๙ สะพานพังก่อนผู้ว่าจ้างรับมอบและไม่ใช่เพราะการกระทำของผู้ว่าจ้าง จำเลยต้องรับผิดตามมาตรา ๖๐๓ พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ที่ ๑ ฟ้องของโจทก์ที่ ๒ ให้ยก

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ๑ นายสำรองปลัดจังหวัดลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ในคำฟ้องในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด ย่อมมีอำนาจกระทำแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๑๑ กรมโยธาเทศบาลมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฟ้องคดีนี้แทนนายสำรองลงลายมือชื่อท้ายคำฟ้อง ในฐานะผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัด จึงชอบแล้วตามหนังสือมอบอำนาจของกรมโยธามีข้อความว่า “โดยหนังสือนี้ กรมโยธาเทศบาล (โดยหลวงสัมฤทธิวิศวกรรม อธิบดีกรมโยธาเทศบาล) ได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร (โดยนายกันเกรา) เป็นโจทก์ฟ้องนายประดู่ ผู้รับเหมาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำหลังสวน ซึ่งไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขตามสัญญาที่ ๓/๒๔๙๔ เป็นเหตุให้สะพานข้ามแม่น้ำหลังสวนชำรุดและพัง ฯลฯ ” เป็นการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร โดยตำแหน่งหน้าที่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลย หาใช่มอบอำนาจให้นายกันเกรา เป็นส่วนตัวฟ้องจำเลยไม่ เป็นการมอบและรับมอบอำนาจต่อกันในทางราชการ การที่ระบุชื่อไว้ในวงเล็บนั้น ฟังได้เพียงว่า ขณะมอบอำนาจนั้น นายกันเกรา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรหาใช่เป็นการจำกัดเฉพาะตัวนายกันเกราไม่ ๒. ตามสัญญาไม่ได้กำหนดว่าจะส่งงานรับงานกันเป็นส่วนๆ การที่โจทก์จ่ายเงินให้จำเลยไปเป็นงวดๆ จะถือว่ารับมอบงานแล้วไม่ได้ จำเลยก่อสร้างผิดจากรายการก่อสร้างและไม่ถูกต้องเรียบร้อย จึงยังไม่มีการรับมอบสะพาน ต่อมาสะพานถูกกระแสน้ำและสวะพัดพัง จำเลยต้องรับผิดชอบ ๓. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๐๑ ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่การชำรุดบกพร่องได้ปรากฎขึ้นนั้น เป็นบทบัญญัติสำหรับกรณีความชำรุดบกพร่องดังกล่าวไว้ในมาตราก่อนๆ คือ หมายถึงการฟ้องร้องในเมื่อได้รับมอบการที่ว่างจ้างนั้นแล้ว ฉะนั้น จะนับอายุความตั้งแต่วันชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นก่อนการส่งมอบดังกรณีนี้ไม่ได้ และการที่ผู้จ้างชำระค่าจ้างให้ผู้รับจ้างไปก่อนงานเสร็จ โดยยังมิได้รับมอบงานที่ทำ งานนั้นวินาศลงและผู้ว่าจ้างเรียกเงินคืนเช่นเรื่องนี้ เป็นกรณีเรียกเงินฐานผิดสัญญา มิใช่ฐานลาภมิควรได้ จะนำมาตรา ๔๑๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับไม่ได้

พิพากษายืน

สรุป

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 ที่ห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้นนั้น หมายถึง การฟ้องร้องในเมื่อได้รับมอบการที่ว่าจ้างนั้นแล้ว

การที่ผู้จ้างชำระค่าจ้างให้ผู้รับจ้างไปก่อนงานเสร็จโดยยังมิได้รับมอบงานที่ทำ งานนั้นวินาศลงและผู้ว่าจ้างเรียกเงินคืน เป็นกรณีเรียกเงินฐานผิดสัญญา มิใช่ฐานลาภมิควรได้จะนำอายุความตามมาตรา419 มาใช้ไม่ได้