หลักการวินิจฉัยการผิดนัด กรณีหนี้แบ่งชำระหลายงวด3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2208/253
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2528 จำเลยได้ทำบันทึกรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์ว่า จำเลยได้กู้ยืมทรัพย์สินของโจทก์ไปเป็นเงินทั้งสิ้น 29,500 บาท จำเลยยอมชำระให้โจทก์โดยแบ่งผ่อนชำระเป็น 2 งวด งวดแรก จำนวน 5,000 บาท ภายในวันที่31 กรกฎาคม 2528 งวดที่สอง จำนวน 24,500 บาท ภายในวันที่31 พฤษภาคม 2529 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจำเลยยอมให้โจทก์ฟ้องร้องบังคับได้ นับแต่ทำบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่เคยชำระหนี้ให้โจทก์เลย ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ 29,500 บาท
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยแบ่งชำระหนี้เป็น2 งวด งวดที่สอง จำนวน 24,500 บาท จะชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม2529 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2529 ซึ่งหนี้งวดที่สองยังไม่ถึงกำหนด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้งวดที่สอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 29,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ปรากฏว่า จำเลยตกลงผ่อนชำระหนี้ให้โจทก์เป็น 2 งวด งวดแรก จำนวน 5,000 บาท ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2528งวดที่สอง จำนวน 24,500 บาท ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2529 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2529 คดีมีประเด็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้ตามงวดที่สองได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้เป็น 2 งวด แต่ก็มิได้แยกหนี้ออกเป็นรายต่างหากจากกัน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงไว้ แม้แต่เพียงงวดแรก จำเลยก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามบันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ทั้งหมด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกหนี้ตามงวดที่สองได้ เทียบนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 521/2510 ระหว่างนายพุก ตรีทศ โจทก์ นายวิทยา ตะเพียนทอง จำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน.
สรุป
แม้จำเลยตกลง กำหนดเวลาชำระหนี้เป็น 2 งวด แต่ ก็มิได้แยกหนี้ออกเป็นรายต่างหากจากกัน เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาตกลง ไว้ แม้แต่ เพียงงวดแรก จำเลยก็ย่อมตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตาม บันทึกข้อตกลงรับสภาพหนี้ทั้งหมด ดังนี้ โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกหนี้ตาม งวดที่สองได้.