เบี้ยปรับตามสัญญาก่อสร้างที่สูงเกิน ศาลมีอำนาจปรับลดหรือไม่

เบี้ยปรับตามสัญญาก่อสร้างที่สูงเกิน ศาลมีอำนาจปรับลดหรือไม่

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผิดสัญญาก่อสร้างคลองส่งน้ำและอาคารชลประทานต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นที่โจทก์ต้องว่าจ้างคนอื่นทำต่อ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน971,875.36 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 784,969.88 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 549,123.95บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 447,622.76 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532 โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการให้ทำการก่อสร้างคลองส่งน้ำพร้อมอาคารชลประทานในราคา 788,836.12 บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 23 กันยายน 2533 ปรากฏตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.4 ต่อมาโจทก์ขยายระยะเวลาแล้วเสร็จให้อีก 180 วัน ครบกำหนดในวันที่ 22 มีนาคม 2534 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โจทก์ได้ใช้สิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นรายวัน วันละ 789 บาท นับแต่วันล่วงเลยกำหนดแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2535 อันเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 รวมปรับ 648 วัน คิดเป็นเงิน511,272 บาท ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2536 โจทก์ทำสัญญาจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส เอส วิศวกรรมโยธาดำเนินการต่อในส่วนที่เหลือจนแล้วเสร็จในราคา 747,000 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากราคาค่าก่อสร้างเดิมที่จ้างจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 285,150.28 บาท

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิปรับจำเลยทั้งสองเป็นรายวัน วันละ 789 บาท ตามสัญญาจ้าง และมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดค่าจ้างที่โจทก์ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น เพราะโจทก์จ้างบุคคลอื่นมาทำงานก่อสร้างต่อจากจำเลยที่ 1 จนแล้วเสร็จเป็นจำนวนเพียงใด เห็นว่า ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 มีการแบ่งงวดงานออกเป็น 3 งวด จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 เพียงงวดเดียวหลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินงานต่อไปจนโจทก์ต้องขยายระยะเวลาก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 ออกไปอีก 180 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่ขยายออกไป จำเลยที่ 1 ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการก่อสร้างต่อแม้ต่อมาโจทก์จะได้มีหนังสือ 3 ฉบับ ลงวันที่ 13 พฤษภาคม 2534, 3 สิงหาคม2535 และ 12 พฤศจิกายน 2535 ตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 ตามลำดับเร่งรัดให้จำเลยที่ 1 รีบดำเนินการก่อสร้างมิฉะนั้นจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ดำเนินการก่อสร้างตามที่เร่งรัดแต่ประการใด พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงย่อมจะต้องอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์โดยตลอดและเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1น่าจะต้องละทิ้งงานและเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีแต่ต้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่โจทก์กลับละเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าวจนครบกำหนดอายุสัญญา และยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปอีก โดยโจทก์บอกเลิกสัญญาหลังจากสัญญาครบกำหนดแล้วถึง 648 วัน โดยไม่ปรากฏเหตุผลสำคัญอย่างอื่นให้เห็นถึงเหตุขัดข้องที่กระทำดังกล่าว โจทก์เพิ่งจะมาทำสัญญาว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส เอส วิศวกรรมโยธาให้ทำการก่อสร้างต่อในส่วนที่เหลือเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2536 หลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วเป็นเวลา 8 เดือนเศษ โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ล่าช้า จึงเห็นได้ว่าความล่าช้าต่าง ๆ อันมีผลทำให้ราคาค่าก่อสร้างทวีสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปนั้นเกิดจากการดำเนินงานของโจทก์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างข้อ 20(1) และมีสิทธิเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลยตามสัญญาจ้างข้อ 21(2) ก็ตาม แต่ก็ถือว่าเงินค่าปรับตามที่คู่สัญญากำหนดไว้นั้น และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นกรณีมีการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ อันแสดงว่าเบี้ยปรับนั้นแม้จะได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่ก็มิได้บังคับโดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น หรือจะต้องมีจำนวนเท่าที่โจทก์ขอมาเสมอไป โดยจะต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียทุกอย่างของเจ้าหนี้ประกอบ มิใช่แต่ทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินที่โจทก์จะต้องเสียเพิ่มขึ้นเท่านั้นแต่จะต้องดูเหตุผลแห่งการที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อความเสียหายเกิดจากความล่าช้าในการดำเนินงานของโจทก์รวมอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง ศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ และจำนวนที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้นเหมาะสมดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

สรุป

โจทก์ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ให้ก่อสร้างคลองส่งน้ำพร้อมอาคารแบ่งงวดงานออกเป็น 3 งวด จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบงานงวดที่ 1 เพียงงวดเดียวหลังจากนั้นไม่ดำเนินงานต่อไปจนโจทก์ต้องขยายระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ออกไปอีก 180 วัน เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการก่อสร้างต่อ แม้โจทก์จะมีหนังสือ 3 ฉบับ เร่งรัดให้จำเลยที่ 1 รีบดำเนินการมิฉะนั้นจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ก็มิได้ดำเนินการตามที่เร่งรัดแต่ประการใด พฤติการณ์ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงย่อมจะต้องอยู่ในความรู้เห็นของโจทก์โดยตลอดและเล็งเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 น่าจะต้องละทิ้งงานและเกิดความเสียหายขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งโจทก์อาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีแต่ต้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายเพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่โจทก์กลับละเลยไม่ใช้สิทธิดังกล่าวจนครบกำหนดอายุสัญญาและยังปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปอีกถึง 648 วัน โดยไม่ปรากฏเหตุผลสำคัญให้เห็นถึงเหตุขัดข้องที่กระทำดังกล่าว โจทก์เพิ่งจะมาทำสัญญาว่าจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ให้ทำการก่อสร้างต่อในส่วนที่เหลือหลังจากที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1แล้วเป็นเวลา 8 เดือนเศษ โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ล่าช้า ความล่าช้าต่าง ๆ อันมีผลทำให้ราคาก่อสร้างทวีสูงขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านไปนั้นเกิดจากการดำเนินงานของโจทก์รวมอยู่ด้วย ดังนั้น แม้โจทก์จะมีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 และมีสิทธิเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างต่อจากจำเลยตามสัญญาจ้างก็ตาม แต่ก็ถือว่าเงินค่าปรับตามที่คู่สัญญากำหนดไว้ และค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้นเป็นการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นกรณีมีการผิดสัญญาไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับซึ่งถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ศาลจึงใช้ดุลพินิจลดจำนวนเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้