โทษกรณีดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลฎีกาวางแนวการลงโทษอย่างไร
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 4, 21, 31, 40, 42, 65, 66 ทวิ, 67, 71 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขอให้ปรับจำเลยเป็นรายวันฐานก่อสร้าง ดัดแปลงอาคารโดยฝ่าฝืนคำสั่งตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 และปรับจำเลยรายวันฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้รื้อถอนของเจ้าพนักงานตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2559 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 42, 65 วรรคแรกและวรรคสอง, 66 ทวิ วรรคแรกและวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท กับปรับรายวันนับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ตามที่โจทก์ขอมา เป็นเวลา 28 วัน วันละ 120 บาท รวม 3,360 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอน จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท กับปรับรายวันนับแต่วันฝ่าฝืนคำสั่งจนถึงวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นเวลา 680 วัน วันละ 120 บาท รวม 81,600 บาท และปรับรายวันอีกวันละ 120 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟังคำพิพากษาจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่ง ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละหนึ่งในสาม ฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน 10 วัน และปรับ 4,000 บาท กับปรับจำเลยรายวันนับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ตามที่โจทก์ขอมา เป็นเวลา 28 วัน วันละ 80 บาท รวม 2,240 บาท ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้รื้อถอน จำคุก 1 เดือน 10 วัน และปรับ 4,000 บาท กับปรับจำเลยรายวันนับแต่วันฝ่าฝืนคำสั่งจนถึงวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นเวลา 680 วัน วันละ 80 บาท รวม 54,400 บาท รวมจำคุก 2 เดือน 20 วัน และปรับ 64,640 บาท กับให้ปรับจำเลยรายวันอีกวันละ 80 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกินหนึ่งปี ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังยุติว่า จำเลยดัดแปลงอาคารเลขที่ 27 หมู่ที่ 5 ตำบลพยุหะ อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชั้นเดียวขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 8 เมตร รุกล้ำเข้าไปในชายตลิ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการดัดแปลงอาคารและโครงสร้างอันมิใช่การซ่อมแซมหรือการดัดแปลงที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง โดยมิได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำคุกจำเลย 1 เดือน 10 วัน ปรับ 4,000 บาท ในความผิดฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 สำหรับความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้ระงับการดัดแปลงอาคาร ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องของโจทก์ในข้อหาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารที่จำเลยดัดแปลงตามฟ้อง ข้อ 1.3 เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่า วันที่ 21 พฤษภาคม 2559 เวลากลางวัน จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวโดยชอบแล้ว ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน 2559 เวลากลางวัน จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งไม่รื้อถอนอาคารดังกล่าวโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวและไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย โดยอ้างว่าเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารนั้น พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน …” ดังนั้น เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารที่ดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้หรือไม่ ข้อเท็จจริงว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งต้องบรรยายให้ปรากฏในฟ้อง เพื่อนำมาพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การบรรยายฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ฟ้องของโจทก์ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคาร ที่จำเลยดัดแปลงตามฟ้องข้อ 1.3 จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้ลงโทษจำเลยในข้อหาดังกล่าวมานั้น เป็นการไม่ชอบ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42, 66 ทวิ คงลงโทษจำเลยฐานดัดแปลงอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 เดือน 10 วัน และปรับ 4,000 บาท กับปรับรายวัน วันละ 80 บาท นับตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2559 รวม 2,240 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกินหนึ่งปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6
สรุป
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 มีบทลงโทษตามมาตรา 66 ทวิ ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารได้ตามกฎหมาย และแจ้งคำสั่งให้จำเลยทราบโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซึ่งอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่จะสั่งให้รื้อถอนอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ หรือเจ้าของอาคารมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดำเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน …” ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่าอาคารดังกล่าวไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นองค์ประกอบความผิดซึ่งต้องบรรยายให้ปรากฏในฟ้อง เพื่อนำมาพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่น มิใช่เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าอาคารที่จำเลยดัดแปลงโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ การบรรยายฟ้องจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)