ไม่ส่งมอบพื้นที่ตามกำหนดในสัญญา บอกเลิกสัญญาได้หรือไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2545
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2533 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างขยายผิวจราจรพร้อมท่อระบายน้ำ คันหินและทางเท่าบริเวณถนนพัทยาสาย 2 ตามแบบแปลนของเมืองพัทยาเลขที่ 59/2531 ลงวันที่ 5 มกราคม 2532 กำหนดระยะเวลาแล้ว เสร็จภายใน 350 วัน นับแต่วันทำสัญญา กำหนดค่าจ้างเป็นเงิน 13,500,000 บาท โจทก์ได้เตรียมเครื่องจักรเข้าเพื่อทำการก่อสร้างพร้อมกับซื้อวัสดุก่อสร้าง เช่น ท่อระบายน้ำหิน ทราย ปูนซีเมนต์ เป็นเงิน 1,500,000 บาท แต่เมื่อโจทก์เข้าตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่จะก่อสร้างตามสัญญาเกือบทั้งหมดรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินของเอกชนหลายรายซึ่งต่างไม่ยินยอมให้โจทก์ก่อสร้างทางเข้าไปในที่ดินดังกล่าวทั้งยังมีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางแนวเขตก่อสร้าง เช่น เสาไฟฟ้า ท่อประปา ป้ายโฆษณา รั้ว และอาคารของเอกชน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบหลายครั้งเพื่อประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้รื้อถอน แต่จำเลยไม่สามารถแก้ไขอุปสรรคดังกล่าวและไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ที่จะก่อสร้างตามสัญญาให้โจทก์เข้าดำเนินการก่อสร้างได้จนกระทั่งครบกำหนดอายุสัญญา จึงถือว่า เป็นกรณีที่มีพฤติการณ์อันหนึ่งอันใดที่โจทก์ผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายและจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้ว จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้างเป็นเงิน 1,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับกำไรจากการประกอบกิจการในอัตราร้อยละ 10ของค่าจ้าง 13,500,000 บาท เป็นเงิน 1,350,000 บาท รวมค่าเสียหายเป็นเงิน2,850,000 บาท และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2533 จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างท่อระบายน้ำในซอยเย็นสบายตามแบบแปลนของเมืองพัทยาเลขที่ 53/2531 ลงวันที่ 15พฤศจิกายน 2531 กำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จภายใน 350 วัน นับแต่วันทำสัญญากำหนดค่าจ้างเป็นเงิน 13,500,000 บาท โจทก์ได้ก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1และที่ 3 ซึ่งจำเลยได้ตรวจรับและจ่ายค่าจ้างสำหรับงานส่วนนี้ให้โจทก์แล้ว และก่อนครบกำหนดเวลาตามสัญญา โจทก์จำเลยได้ตกลงขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปอีก 27 วันนับแต่วันครบกำหนดสัญญาที่ตกลงไว้เดิม ต่อมาวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 2 คือ งานก่อสร้างท่อบล็อกต่อจากของเดิมได้ระยะ 295 เมตร เป็นเงิน 2,500,000 บาท งานงวดที่ 4 คือ งานก่อสร้างท่อบล็อกอีกด้านต่อจากของเดิมได้ระยะ 295 เมตร เป็นเงิน 2,300,000 บาท และวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 5 คืองานก่อสร้างผิวจราจรแอสฟัลติกกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ 595 เมตร หนาเฉลี่ย0.07 เมตร เป็นเนื้อที่ 2,975 ตารางเมตร และไหล่ทางซึ่งสร้างด้วยหินคลุกบดอัดแน่นหนา 0.05 เมตร มูลค่าของงานเป็นเงิน 3,500,000 บาทคณะกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยได้ตรวจรับงานเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 แต่จำเลยกลับมีหนังสือลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 ขอเลิกสัญญากับโจทก์ เป็นการใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 13,626,356บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,500,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 8,300,000บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชาเลขที่ ค.41/2533 และ ค.42/2533 ลงวันที่ 17 กันยายน 2533 คืนให้โจทก์โดยให้จำเลยรับผิดใช้ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บในอัตราฉบับละ 12,500 บาท ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะส่งมอบหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับดังกล่าวคืนให้โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้างแล้วขณะที่ยื่นหนังสือเสนอราคา และตามบันทึกของโจทก์ลงวันที่ 10 กันยายน 2533 ถือได้ว่าโจทก์ยอมเข้าเสี่ยงภัยเองและมิใช่ความผิดของจำเลย โจทก์ได้แจ้งว่าจะเข้าดำเนินการก่อสร้างภายในวันที่ 17 ธันวาคม 2533 ช้ากว่ากำหนด 89 วัน แต่ก็มิได้ทำการก่อสร้างกลับอ้างว่ามีปัญหาและอุปสรรคในการก่อสร้าง ขอให้ร่วมกันตรวจสอบและแก้ไข จำเลยขอให้โจทก์ทำการก่อสร้างในส่วนที่ไม่มีปัญหาและอุปสรรคไปก่อน เพราะส่วนที่มีปัญหาและอุปสรรคมีเพียงส่วนน้อยและแก้ไขได้ แต่โจทก์เพิกเฉยและบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยจำเลยได้ว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ เข้าดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งสามารถก่อสร้างได้เสร็จในระยะเวลา 240 วัน สั้นกว่าระยะเวลาที่จำเลยทำสัญญากับโจทก์ในวงเงิน 13,000,000 บาท น้อยกว่าราคาค่าก่อสร้างที่โจทก์เสนอโดยได้ร่วมกับจำเลยแก้ไขปัญหาและอุปสรรคได้ทั้งหมด โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้งโจทก์เป็นผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างและค่าวัสดุก่อสร้าง วัสดุที่จะใช้ก่อสร้างโจทก์มีอยู่แล้ว และโจทก์เป็นฝ่ายไม่พร้อมจะทำการก่อสร้าง ยังไม่ได้เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ตลอดจนมิได้จัดซื้อวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะได้ตกลงไว้ในสัญญาข้อที่ 8 ว่า “…ผู้รับจ้างยินยอมให้บรรดางานที่ผู้รับจ้างได้ทำขึ้นรวมทั้งโรงงาน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งของต่าง ๆที่ได้นำมาไว้ ณ สถานที่ทำงานจ้างโดยเฉพาะเพื่องานดังกล่าวในสัญญาข้อ 1 ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งสิ้น…” โจทก์จึงไม่ได้รับความเสียหายส่วนค่าเสียหายจากการขาดกำไรเป็นเงิน 1,350,000 บาท นั้น ไม่ใช่ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับจริง แต่เป็นการเรียกร้องจากการคาดคะเนของโจทก์ ส่วนการก่อสร้างตามแบบแปลนของเมืองพัทยาเลขที่ 53/2531 โจทก์ทำการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1 และที่ 3ให้จำเลยรับไว้และจำเลยได้จ่ายเงินให้แล้ว แต่งานงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 โจทก์ไม่สามารถก่อสร้างได้เสร็จในกำหนดเวลาของแต่ละงวด และไม่ได้ก่อสร้างตามแบบแปลนเป็นการผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญาและมีสิทธิระงับไม่จ่ายเงินเพื่อจะได้หักกับเงินค่าปรับที่โจทก์จะต้องชำระให้จำเลยวันละ 13,500 บาท และด้วยเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา ทั้งสองฉบับที่โจทก์นำมาวางเป็นหลักประกันไว้ได้จนกว่าโจทก์จะพ้นความรับผิดชอบตามเงื่อนไขในสัญญารับจ้างก่อสร้างโดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบในค่าธรรมเนียมของธนาคาร ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 7,562,320 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยส่งมอบหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา เลขที่ ค.41/2533 และค.42/2533 ลงวันที่ 17 กันยายน 2533 คืนโจทก์ และให้จำเลยชำระเงินอัตราฉบับละ12,500 บาท ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าวคืนโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 7,462,320 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2533 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างขยายผิวจราจรพร้อมท่อระบายน้ำคันหิน และทางเท้าถนนพัทยาสาย 2 ตามแบบแปลนของจำเลยเลขที่ 59/2531 ลงวันที่ 5 มกราคม 2532 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 350 วัน นับแต่วันทำสัญญา ตกลงราคาค่าจ้างเป็นเงิน 13,500,000 บาท โดยโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาศรีราชา เลขที่ ค41/2533 ลงวันที่ 17 กันยายน 2533วงเงิน 675,000 บาท มอบไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาและโจทก์จะเริ่มลงมือก่อสร้างภายในวันที่ 25 กันยายน 2533 รายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.2 หลังจากทำสัญญาจ้างแล้ว โจทก์มิได้ลงมือก่อสร้างตามกำหนดเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางการก่อสร้างในพื้นที่ที่จะก่อสร้างคือ เสาไฟฟ้า 62 ต้น พร้อมหม้อแปลงไฟฟ้าและสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์ กันสาดของอาคารพาณิชย์ เครื่องหมายสัญญาจราจร และท่อประปาใต้ดิน โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เมื่อยังแก้ไขปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวไม่ได้จนพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาแล้ว โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยในวันที่ 18ธันวาคม 2534 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2533 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้ก่อสร้างท่อระบายน้ำซอยเย็นสบายตามแบบแปลนของจำเลยเลขที่ 53/2531 ลงวันที่15 พฤศจิกายน 2531 กำหนดแล้วเสร็จภายใน 350 วัน นับแต่วันทำสัญญาตกลงราคาค่าจ้างเป็นเงิน 13,500,000 บาท โดยโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทยจำกัด สาขาศรีราชา เลขที่ ค.42/2533 ลงวันที่ 17 กันยายน 2533 วงเงิน 675,000บาท มอบไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญารายละเอียดปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ได้ดำเนินการก่อสร้างและส่งมอบงานงวดที่ 1และที่ 3 ให้จำเลยและได้รับเงินค่าจ้างจากจำเลยแล้ว แต่งานงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5โจทก์ก่อสร้างไม่เสร็จตามกำหนด จำเลยอนุมัติให้ขยายเวลาออกไป 27 วัน โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 แก่จำเลยแล้ว แต่ล่าช้ากว่ากำหนดเวลาที่จำเลยขยายให้โดยโจทก์มีหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 2 และที่ 4 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2534 และส่งมอบงานงวดที่ 5 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2534 ต่อมาวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์อ้างเหตุว่าโจทก์ผิดสัญญาเนื่องจากทำงานไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนดในสัญญาและการก่อสร้างไม่ถูกต้อง จำเลยยังมิได้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ และยังมิได้ชำระค่าจ้างงวดที่ 2ที่ 4 และที่ 5 ของสัญญาจ้างก่อสร้างท่อระบบน้ำซอยเย็นสบายเป็นเงิน 8,300,000บาท ให้แก่โจทก์ โจทก์ทราบปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่อยู่แล้ว และสามารถลงมือก่อสร้างในบริเวณที่ไม่มีปัญหาและอุปสรรคได้นั้น เห็นว่า ตามสัญญาจ้าง เอกสารหมายจ.2 ข้อ 5 ระบุว่าโจทก์จะต้องเริ่มลงมือทำงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ 25กันยายน 2533 แสดงว่าตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2533 จำเลยต้องเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างพร้อมที่จะส่งมอบแก่โจทก์เพื่อลงมือก่อสร้างแล้ว แม้ในสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.2 จะมิได้ระบุถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างไว้ก็ตาม แต่เป็นที่เข้าใจได้ว่าพื้นที่สำหรับก่อสร้างเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือจำเลยมีสิทธิที่จะครอบครองดูแลหรือใช้ประโยชน์ จำเลยจึงมีหน้าที่ที่จะต้องส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์ก่อน มิฉะนั้นโจทก์ย่อมไม่อาจลงมือก่อสร้างได้ การที่โจทก์ทราบถึงอุปสรรคในพื้นที่อยู่แล้วเรื่องเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาคารของผู้อื่นบางส่วนกีดขวางอยู่นั้น เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการแก้ไขหากให้โจทก์ลงมือทำงานในส่วนที่ไม่มีอุปสรรคไปก่อนก็อาจไม่ตรงตามงวดของงานตามสัญญาจ้างเอกสารหมายจ.2 ข้อ 4 และหากมีผลกระทบถึงที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โจทก์ก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ได้ เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์จนกระทั่งล่วงพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญาเช่นนี้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การก่อสร้างท่อระบายน้ำซอยเย็นสบายตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ล่าช้า และยังไม่รับข้อเสนอของจำเลยที่ขยายเวลาก่อสร้างให้อีก 27 วัน โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับเป็นรายวันแก่จำเลยสำหรับระยะเวลา 27 วัน ซึ่งคิดเป็นเงิน 364,500 บาท ขอให้หักออกจากค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 นั้น เห็นว่า ฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันของธนาคารไว้ และไม่ต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใด ๆ ที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารนั้น เห็นว่าสำหรับหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับแรกที่โจทก์มอบให้จำเลยตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับนี้ให้แก่โจทก์นับแต่วันที่สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 เลิกกัน เมื่อจำเลยไม่คืน จำเลยย่อมต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคารดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยส่วนหนังสือค้ำประกันของธนาคารฉบับหลังที่โจทก์มอบให้จำเลยตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 นั้น จำเลยฎีกาว่า จำเลยควรต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมของธนาคารให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเป็นต้นไป มิใช่นับแต่วันฟ้องปรากฏว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาตามจำนวนทุนทรัพย์7,462,320 บาท ที่แพ้คดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 แต่จำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 เพียงสัญญาเดียว ในส่วนสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ไม่มีค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อีก นอกจากค่าธรรมเนียมของธนาคารปีละ 12,500บาท นับแต่วันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตเท่านั้น ดังนี้ ในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับค่าเสียหายในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) และข้อ (4) ส่วนสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทุกข้อซึ่งเป็นกรณีที่ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 วรรคหนึ่ง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่จำเลยไปทั้งหมด”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 300 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
สัญญาจ้างระบุว่าโจทก์จะต้องเริ่มลงมือทำงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ 25 กันยายน 2533 แสดงว่าตั้งแต่วันดังกล่าวจำเลยต้องเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างพร้อมที่จะส่งมอบเพื่อลงมือก่อสร้างแล้ว แม้ในสัญญาจ้างมิได้ระบุถึงเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้ การที่โจทก์ทราบถึงอุปสรรคเรื่องเสาไฟฟ้า สายไฟฟ้า ท่อประปา ตลอดจนการที่มีอาคารของผู้อื่นบางส่วนกีดขวางอยู่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องดำเนินการแก้ไข หากให้โจทก์ลงมือทำงานในส่วนที่ไม่มีอุปสรรคไปก่อนก็อาจไม่ตรงตามงวดของงานตามสัญญาจ้าง และหากมีผลกระทบถึงที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โจทก์ก็อาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานบุกรุกหรือทำให้เสียทรัพย์ได้ เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบพื้นที่ให้โจทก์จนกระทั่งล่วงพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์และโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่โจทก์นับแต่วันที่สัญญาจ้างเลิกกัน เมื่อจำเลยไม่คืน จำเลยย่อมต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคาร
จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาตามจำนวนทุนทรัพย์ 7,462,320 บาท ที่แพ้คดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แต่จำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 เพียงสัญญาเดียว ในส่วนสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 ไม่มีค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดอีก นอกจากค่าธรรมเนียมของธนาคารปีละ 12,500 บาท นับแต่วันฟ้องอันเป็นค่าเสียหายในอนาคตเท่านั้น ดังนี้ ในประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับค่าเสียหายในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) และข้อ (4) เมื่อสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทุกข้อซึ่งเป็นกรณีที่ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151วรรคหนึ่ง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาสำหรับส่วนที่เกิน 300 บาท แก่จำเลยไปทั้งหมด