ก่อสร้างชำรุดบกพร่องไม่ยอมแก้ไข ถือเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาหรือไม่
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร 2 ชั้น พร้อมชั้นลอย ในราคา 1,210,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าจ้าง 8 งวด โจทก์ก่อสร้างเสร็จถึงงานงวดที่ 6 และก่อสร้างงานงวดที่ 7 เสร็จแล้ว ยกเว้นยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์เนื่องจากจำเลยให้ไปติดตั้งในงานงวดที่ 8 และก่อสร้างงานงวดที่ 8 แล้วบางส่วน แต่การก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากจำเลยให้ทำงานปูกระเบื้องชั้นล่าง ชั้นลอย ชั้นดาดฟ้าและบันไดเพิ่มเติมจากงานเดิมและให้ซ่อมรอยแตกของผนังและเพดานบางจุด ต่อมาจำเลยไม่ยอมให้โจทก์ทำงานต่อและบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชำระค่าจ้างงานงวดที่ 7 หักค่าสุขภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแล้วเป็นเงินค่าจ้าง 135,517 บาท และงานงวดที่ 8 ส่วนที่ทำเสร็จแล้วเป็นเงิน 121,000 บาท กับค่าจ้างงานเพิ่มเติมคือทำห้องน้ำ กันสาด เพิ่มความสูง ค่าแรงงานปูกระเบื้องและค่าประตูอะลูมิเนียมรวมเป็นเงิน 119,500 บาท รวมเงินที่จำเลยค้างชำระทั้งสิ้น 376,017 บาท ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า งานงวดที่ 6 บางส่วนยังไม่เรียบร้อยและเสียหาย จำเลยจ่ายค่าจ้างงวดดังกล่าวให้เพราะโจทก์ตกลงว่าจะแก้ไขเมื่อส่งมอบงานงวดสุดท้าย งานงวดที่ 7 และงวดที่ 8 ที่โจทก์ทำไปแล้วคิดเป็นเงินไม่เกิน 150,000 บาท โจทก์ก่อสร้างผิดแบบและงานที่ทำบางส่วนชำรุดบกพร่อง กล่าวคือกำแพงชั้นล่างและคานบนชั้นดาดฟ้าแตกร้าว จำเลยบอกกล่าวให้ซ่อมแซม โจทก์ก็เพิกเฉยและทิ้งงานไปจำเลยจึงบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่เคยว่าจ้างโจทก์ทำงานเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแบบแปลน จำเลยว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่เข้ามาตีราคาค่าแก้ไขและก่อสร้างอาคารที่ค้างไว้จนเสร็จเป็นเงิน 446,430 บาท เมื่อหักกับงานที่โจทก์ทำในงวดที่ 7 และงวดที่ 8 แล้ว โจทก์ยังต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยอีก 296,430 บาท ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งยืนยันตามฟ้องเดิมและโต้แย้งว่างานที่ต้องดำเนินการและซ่อมแซมมีเพียงเล็กน้อย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าจ้างงานงวดที่ 7 และที่ 8 จำนวน 178,449 บาท ค่าจ้างงานเพิ่มเติมจำนวน 75,000 บาท แก่โจทก์และให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายจากการงานที่ชำรุดบกพร่องแก่จำเลยจำนวน 102,080 บาท เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วจำเลยคงต้องรับผิดใช้เงินแก่โจทก์ 151,369 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 ตุลาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 141,209 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ตุลาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องเดิมในชั้นอุทธรณ์และค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร 2 ชั้น พร้อมชั้นลอยในราคา 1,210,000 บาท ตกลงแบ่งชำระค่าจ้างเป็น 8 งวด ต่อมาโจทก์ได้ทำการก่อสร้างส่งมอบงานและได้รับค่าจ้างจากจำเลยไปแล้ว 6 งวด ส่วนงานงวดที่ 7 โจทก์ได้ก่อสร้างเกือบแล้วเสร็จ คงเหลือเพียงติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์คือ ชักโครก 2 ชุด และราวตากผ้า 2 ราว กับทำงานงวดที่ 8 ไปแล้วบางส่วนเกี่ยวกับงานเดินสายไฟ งานทาสี ทำวงกบหน้าต่างและประตูเหล็กม้วนชั้นล่าง ต่อมาจำเลยไม่ชำระค่าจ้างงวดที่ 7 โดยอ้างว่าโจทก์ทำงานบกพร่อง มีรอยร้าวที่ผนังและคานชั้นล่าง ชั้นลอย ชั้นสอง และคานชั้นดานฟ้า เกรงว่าอาคารไม่แข็งแรงจะถล่มลงมา จึงแจ้งให้โจทก์เข้าซ่อมแซมแก้ไขแต่โจทก์เพิกเฉย จำเลยจึงแจ้งความไว้เป็นหลักฐานแล้วให้ทนายความบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่า ทั้งโจทก์และจำเลยต่างยอมรับว่าสัญญาว่าจ้างเลิกกันแล้ว และไม่มีฝ่ายใดเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการที่อีกฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาโดยโจทก์เรียกร้องเพียงค่าจ้างที่จำเลยยังไม่ได้ชำระ ส่วนจำเลยก็เรียกร้องเพียงค่าเสียหายที่จำเลยต้องซ่อมแซมงานที่โจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่อง ซึ่งหากมีการค้างชำระค่าจ้างหรือมีงานชำรุดบกพร่อง โจทก์และจำเลยก็สามารถเรียกร้องกันได้อยู่แล้วไม่ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปนั้นชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยอ้างว่าภายหลังจากที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ดำเนินการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง แต่โจทก์ไม่ดำเนินการและไม่ทำการก่อสร้างต่อไป จำเลยจึงได้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรตำบลปากน้ำประแสร์ จากนั้นจึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ การบอกเลิกสัญญาจึงมีผลสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยแจ้งให้โจทก์ซ่อมแซมอาคารส่วนที่ชำรุดบกพร่องแล้ว แต่โจทก์ไม่ดำเนินการให้จึงถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น แต่ตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานและหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าว กลับระบุอ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาอันจะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น ข้ออ้างที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องแล้วไม่ยอมแก้ไขให้จำเลยจึงบอกเลิกสัญญานั้น จึงเป็นเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 595 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ศาลจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนตามที่จำเลยฎีกาโต้แย้งและเมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญากันแล้ว กรณีเช่นนี้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 ส่วนการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว จำเลยต้องชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ และจำเลยมีสิทธิที่จะคิดหักค่าเสียหายที่ต้องซ่อมแซมงานที่โจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องออกจากค่าจ้างที่ยังค้างชำระอยู่ได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่อย่างใด ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 2821/2522 ระหว่างบริษัทวรกิจ จำกัด โจทก์ การไฟฟ้านครหลวง จำเลย ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่วินิจฉัยในประเด็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ 11 ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่ทำการแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดงานจากแบบรูปและรายการละเอียดตามสัญญาได้ โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร” ดังนั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยให้โจทก์ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมจากแบบแปลนเดิมตามที่ตกลงกันไว้นั้น จึงเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยนั้น เห็นว่า หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารนั้นเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ฉะนั้นโจทก์จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมผิดไปจากแบบแปลนที่ตกลงกันไว้เดิมได้ ไม่ต้องห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข) ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
มีปัญหาวินิจฉัยข้อต่อไปว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างโจทก์เพียงใด ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้คิดคำนวณแล้วเห็นว่า จำเลยค้างชำระค่าจ้างงานงวดที่ 7 จำนวน 134,417 บาท งานงวดที่ 8 จำนวน 87,000 บาท และส่วนงานเพิ่มเติมอีก 75,000 บาท รวม 296,417 บาท จำเลยฎีกาโต้แย้งเป็นทำนองว่า ค่าจ้างค้างชำระงานงวดที่ 7 และที่ 8 เมื่อหักค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จ่ายทดรองไปก่อนตามบิลเงินสดจำนวน 57,968 บาท และหักค่าชดเชยที่โจทก์ใช้วัสดุอุปกรณ์ไม่ตรงตามแบบเกี่ยวกับงานติดตั้งวงกบอะลูมิเนียมออกแล้วคงเหลือค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ประมาณ 100,000 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ตามที่โจทก์และจำเลยแถลงร่วมกันในรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 เมษายน 2543 นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่ได้โต้แย้งในส่วนค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จำเลยทดรองจ่ายไปก่อนจำนวน 57,968 บาท และไม่ได้โต้แย้งเรื่องใช้อุปกรณ์ เช่น วงกบอะลูมิเนียมที่มีความหนาไม่ตรงตามแบบซึ่งมีราคาส่วนต่างกันอยู่ประมาณ 20,000 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้ ดังนั้นจำเลยจึงชอบที่จะหักเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ทดรองจ่ายไปก่อนและค่าส่วนต่างวงกบอะลูมิเนียมดังกล่าวออกจากค่าจ้างค้างชำระงานงวดที่ 7 และงวดที่ 8 ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้ชำระแก่โจทก์จำนวน 134,417 บาท และ 87,000 บาท รวม 221,417 บาทได้ คงเหลือ 143,449 บาท แต่สำหรับค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติมจำนวน 75,000 บาท ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นพ้องด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ข้อ 11 ระบุ “การเพิ่มเติมหรือลดงานจะต้องคิดราคากันใหม่และถ้าต้องเพิ่มหรือลดเงินหรือยืดเวลาออกไปอีกก็จะตกลงกัน ณ บัดนั้น โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงเพิ่มเติมงานและราคากันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว กรณีจึงถือว่าโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 366 วรรคสอง ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างงานส่วนเพิ่มเติมจากจำเลย ดังนั้นจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าจ้างส่วนงานเพิ่มจำนวน 75,000 บาท ให้แก่โจทก์ตามที่ศาลล่างทั้งศาลกำหนดให้จำเลยชำระแก่โจทก์ ฉะนั้นจำเลยจึงยังคงเป็นหนี้ค้างชำระค่าจ้างงานงวดที่ 7 และงวดที่ 8 แก่โจทก์เพียง 143,449 บาท เท่านั้น ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้โจทก์รับผิดชดใช้ค่าเสียหายในส่วนการก่อสร้างชำรุดบกพร่องให้แก่จำเลยจากจำนวน 102,080 บาท ให้คงเหลือ 77,240 บาท โดยที่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการก่อสร้างชำรุดบกพร่อง จำนวน 446,430 บาท ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้แก่จำเลยจำนวน 102,080 บาท จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า ค่าเสียหายส่วนนี้ควรเป็นจำนวน 151,040 บาท แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นคิดคำนวณรวมค่าเสียหายในส่วนนี้ไม่ถูกต้องกล่าวคือ ศาลชั้นต้นกำหนดให้ค่าเสียหายงานฉาบปูนตารางเมตรละ 100 บาท รวม 420 ตารางเมตร เป็นเงิน 42,000 บาท งานทาสีภายนอกอาคาร ให้ตารางเมตรละ 62 บาท รวม 420 ตารางเมตร เป็นเงิน 26,040 บาท งานซ่อมผนังร้าวชั้นสองจำนวน 1 จุด เป็นเงิน 1,200 บาท และงานซ่อมรอยร้าวที่ผนังและคานทั้งหมด 4 จุด ๆ ละ 2,000 บาท เป็นเงิน 8,000 บาท ซึ่งรวมทั้งสิ้นเป็นเงินเพียง 77,240 บาท เท่านั้น ไม่ใช่ 102,080 บาท ตามที่ศาลชั้นต้นคิดคำนวณให้ จึงถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งในจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้แล้ว ฉะนั้น ค่าเสียหายในส่วนชำรุดบกพร่องนี้จึงหายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังที่จำเลยฎีกาโต้แย้งไม่ ทั้งถือเป็นเรื่องแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงมีอำนาจแก้ไขคิดคำนวณใหม่ให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นเมื่อหักจำนวนเงินค่าเสียหายในส่วนชำรุดบกพร่องจำนวน 77,240 บาท ออกจากค่าจ้างก่อสร้างที่จำเลยค้างชำระโจทก์ในงวดงานที่ 7 ที่ 8 จำนวน 143,449 บาท ตามที่วินิจฉัยมาแล้ว จึงคงเหลือค่าจ้างก่อสร้างที่จำเลยค้างชำระโจทก์อยู่อีกเพียง 66,209 บาท เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 66,209 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 14 ตุลาคม 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2
สรุป
ข้ออ้างที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องแล้วไม่ยอมแก้ไข จำเลยจึงบอกเลิกสัญญานั้น เป็นเรื่องความรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่โจทก์ในฐานะผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบอยู่แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 595 โดยไม่คำนึงว่าโจทก์หรือจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ดังนั้น ประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ จึงไม่เป็นประเด็นสำคัญแห่งคดีที่ศาลจำต้องวินิจฉัยเสียก่อนและเมื่อฟังว่าโจทก์และจำเลยตกลงเลิกสัญญากันแล้ว กรณีเช่นนี้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 ส่วนการงานที่โจทก์ได้ทำไปแล้ว จำเลยต้องชดใช้คืนด้วยการใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้นๆ และจำเลยมีสิทธิที่จะหักค่าเสียหายที่ต้องซ่อมแซมงานที่โจทก์ก่อสร้างชำรุดบกพร่องออกจากค่าจ้างที่ยังค้างชำระอยู่ได้
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง โจทก์จึงนำสืบพยานบุคคลว่าจำเลยตกลงให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมไปจากแบบแปลนที่ตกลงกันไว้เดิมได้ ไม่ต้องห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข)
สำหรับค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติม เมื่อตามสัญญากำหนดไว้ว่าการเพิ่มเติมงานจะต้องคิดราคากันใหม่โดยทำเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่ปรากฏว่าเมื่อโจทก์กับจำเลยได้ตกลงเพิ่มเติมงานและราคากันใหม่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว จึงถือว่าโจทก์กับจำเลยไม่ได้มีสัญญาต่อกันในส่วนที่โจทก์ทำงานเพิ่มเติม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างในส่วนงานเพิ่มเติมจากจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายในส่วนการก่อสร้างชำรุดบกพร่องแก่จำเลย 77,240 บาท แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่จำเลย 102,080 บาท จำเลยอุทธรณ์ว่าค่าเสียหายส่วนนี้ควรเป็น 151,040 บาท แม้โจทก์จะไม่ได้ยื่นอุทธรณ์ แต่โจทก์ได้ยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าศาลชั้นต้นคิดคำนวณรวมค่าเสียหายส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จึงถือว่าโจทก์ได้โต้แย้งจำนวนค่าเสียหายในส่วนนี้แล้ว ฉะนั้น ค่าเสียหายในส่วนชำรุดบกพร่องจึงหายุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ ทั้งถือเป็นเรื่องแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่นๆ ในคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 143 วรรคหนึ่ง