ศาลฎีกาใช้หลักใดในการคำนวนค่าปรับตาม พรบ.ควบคุมอาคาร

ศาลฎีกาใช้หลักใดในการคำนวนค่าปรับตาม พรบ.ควบคุมอาคาร

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 42, 65, 66 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และสั่งปรับจำเลยเป็นรายวันฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 จนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง ฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2550 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่ง

จำเลยให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและขอให้การใหม่เป็นรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 42, 65 วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 65 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง), 66 ทวิ วรรคหนึ่ง (ที่ถูก 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง) เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 เดือน และปรับ 10,000 บาท และปรับตามมาตรา 65 วรรคสอง อีกวันละ 100 บาท นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 จนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง หรือรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เสร็จสิ้น ฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นปรับ 10,000 บาท และปรับตามมาตรา 66 ทวิ วรรคสอง อีกวันละ 100 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2550 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องคำสั่ง รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท และปรับวันละ 50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 จนกว่าจะดำเนินการให้ถูกต้อง หรือรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เสร็จสิ้น และปรับวันละ 50 บาท นับตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2550 จนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำสั่ง ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่จำเลยขอให้ยกโทษปรับหรือมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงโทษปรับใหม่นั้น เห็นว่า ความผิดตามฟ้องโจทก์ กฎหมายกำหนดโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษปรับนั้น เหมาะสมแก่การกระทำความผิดแล้ว แต่ความผิดฐานก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 21, 65 วรรคสอง นั้น กำหนดให้ปรับเป็นรายวันตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืนหรือจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งหมายความว่าจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น หรือจนกว่าจำเลยจะดำเนินการแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อาคารที่จำเลยก่อสร้างเป็นอาคารที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งจะครบกำหนดที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2549 อย่างไรก็ดี เมื่อคดีนี้จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนและอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์จำเลย โดยจำเลยได้รับผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2550 ดังนั้น ความผิดฐานปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตย่อมสิ้นสุดลงวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับผลการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หลังจากนั้น เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งการกระทำของจำเลยส่วนนี้ย่อมเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารตามมาตรา 42, 66 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสอง และไม่เป็นความผิดตามมาตรา 21, 65 วรรคสอง อีกต่อไป ดังนั้น ค่าปรับรายวันในส่วนที่จำเลยปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจึงนับแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยได้รับผลการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนให้ลงโทษปรับจำเลยตามมาตรา 65 วรรคสอง นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 ไปจนกว่าจำเลยจะดำเนินการให้ถูกต้องหรือรื้อถอนอาคารนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะโทษปรับรายวันตามมาตรา 65 วรรคสอง ประกอบมาตรา 21 ให้ลงโทษปรับวันละ 100 บาท นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับวันละ 50 บาท นับแต่วันที่ 18 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2550 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทรโทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/