ตกลงว่าเมื่อเลิกสัญญาแล้วให้งานที่ทำไปริบเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งหมดได้หรือไม่

ตกลงว่าเมื่อเลิกสัญญาแล้วให้งานที่ทำไปริบเป็นของผู้ว่าจ้างทั้งหมดได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 458-459/2524

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นผู้รับเหมาทำการหล่อและปักเสาพาดสายโทรเลข เป็นเงินค่าจ้าง 22,264,000บาท โจทก์และจำเลยไม่ถือระยะเวลาการก่อสร้างเป็นสาระสำคัญระหว่างปฏิบัติงานตามสัญญาโจทก์จำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยไม่ติดใจข้อบกพร่องของโจทก์ โจทก์ทำงานเสร็จไป 113 งวด จำเลยรับงานไปใช้ประโยชน์แล้วแต่คณะกรรมการตรวจการจ้างของจำเลยไม่ยอมไปตรวจงาน ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์และตั้งกรรมการตรวจสอบผลงานที่โจทก์ทำไปแล้วโดยคิดเป็นเงิน 16,048,655.50 บาท จำเลยตกลงจ้างผู้รับเหมารายใหม่ทำงานต่อจากโจทก์เป็นเงิน 4,495,771 บาท ยังคงเหลือเงินค่าจ้างอีก 1,719,573.50 บาท ซึ่งจำเลยต้องจ่ายให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากจำเลยทั้งสิ้น 17,768,229 บาท ในการทำสัญญากับจำเลยโจทก์ได้นำหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาคลองเตย มอบให้จำเลยยึดถือไว้ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 17,768,229 บาท พร้อมดอกเบี้ยและคืนสัญญาค้ำประกันของธนาคาร

 

จำเลยให้การว่า โจทก์ใช้เสาไม่ถูกต้องตามสัญญา โจทก์จำเลยถือกำหนดระยะเวลาเป็นสำคัญ โจทก์ทำงานล่าช้าล่วงเลยกำหนดเวลาเป็นการผิดสัญญาจำเลยจึงบอกเลิกสัญญา สิ่งก่อสร้างและสัมภาระอุปกรณ์ในการก่อสร้างต้องตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตามสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้าง การตกลงระหว่างโจทก์จำเลยในระหว่างการปฏิบัติงานตามสัญญาไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความไม่มีผลผูกพันจำเลยกรรมการตรวจผลงานของจำเลยมิได้สรุปผลงานของโจทก์ว่ามีราคา 16,048,655.50 บาท จำเลยไม่ได้ตกลงว่าจ้างผู้รับเหมารายใหม่ซ่อมแซมงานต่อจากโจทก์เป็นเงิน 4,495,771 บาท และไม่มีค่าจ้างเหลือจ่ายที่จะต้องคืนแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิขอหนังสือค้ำประกันของธนาคารคืนขอให้ยกฟ้อง

 

สำนวนหลังจำเลยฟ้องโจทก์ว่า ตามสัญญาจ้างกำหนดว่าถ้าโจทก์ผิดสัญญาทำงานไม่ถูกต้องตามแบบและทันกำหนดเวลา โจทก์ยอมให้จำเลยปรับเป็นรายวัน วันละ 500 บาท จนกว่างานจะแล้วเสร็จ และต้องจ่ายค่าคนงานให้จำเลยวันละ 50 บาท ตั้งแต่วันล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จจนถึงวันที่จำเลยบอกเลิกสัญญา และต้องคืนอุปกรณ์ก่อสร้างที่จำเลยจัดหาให้ส่วนที่เหลือแก่จำเลย จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว แจ้งให้โจทก์คืออุปกรณ์ที่เหลือคิดเป็นราคา 6,544,465.56 บาท โจทก์ไม่คืนให้ โจทก์ทำงานไม่ถูกต้องตามสัญญาทำให้จำเลยเสียหายเป็นรายการดังนี้คือ ค่าเสียหายสำหรับเสาผิดแบบและขาดจำนวนเป็นเงิน 2,689,766 บาท ค่าปรับเพราะทำงานไม่เสร็จตามกำหนดเป็นเงิน 943,000 บาท ค่าคุมงานเป็นเงิน 94,300 บาท ขอให้บังคับโจทก์ให้คืนอุปกรณ์ที่เหลือถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้เงิน 6,544,465.56 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับเสาผิดแบบและขาดจำนวน 2,689,766 บาท ค่าปรับและค่าคุมงาน 1,037,300 บาท พร้อมดอกเบี้ย

 

โจทก์ให้การว่า อุปกรณ์ที่จำเลยมอบให้เหลืออยู่เพียงเล็กน้อยราคาไม่ถึง 6,544,645.56 บาท งานยังไม่เสร็จจำเลยยังไม่มีสิทธิฟ้องเรียกคืนโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงไว้จนกว่าจำเลยจะจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ เหตุที่งานล่าช้าเป็นเพราะจำเลยจัดหาอุปกรณ์ให้โจทก์ล่าช้าไม่ครบถ้วน ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญาไม่เป็นสาระสำคัญโจทก์จำเลยเคยตกลงประนีประนอมกันเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพและข้อบกพร่องของการก่อสร้างเมื่อวันที่ 27 และ 30 กันยายน 2511 โจทก์ทำงานถูกต้องตามสัญญาและจำเลยได้รับเอางานที่โจทก์ทำเสร็จไปใช้ประโยชน์แล้ว จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและเรียกค่าปรับจากโจทก์ ค่าปรับสูงเกินสมควร จำเลยไม่เคยจ้างคนคุมงานจึงเรียกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง

 

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 17,768,229 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ ให้โจทก์คืนอุปกรณ์โทรเลขตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.63 ถึง ล.80 ทั้งหมดให้จำเลย

 

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

 

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนอุปกรณ์การก่อสร้างแก่จำเลย ถ้าคืนไม่ได้ให้ใช้เงินและให้โจทก์ใช้ค่าปรับกับค่าคุมงาน

 

โจทก์และจำเลยฎีกาทั้งสองสำนวน

 

ศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้

 

ประเด็นฎีกาข้อ 1 จำเลยฎีกาว่า งาน 113 งวดที่โจทก์มีหนังสือขอส่งมอบให้จำเลย จะถือว่าโจทก์ทำถูกต้องตามสัญญาเสร็จไปบางส่วนและจำเลยยอมรับมอบไว้แล้วไม่ได้ หากแต่เป็นงานที่จำเลยมีสิทธิริบตามสัญญาจ้างข้อ 5 ค. โดยไม่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์เลย เพราะโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา และจำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว

 

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ตามสัญญาจ้างทั้ง 6 ฉบับ ข้อ 5 ค. มีความว่า “ฯลฯ ถ้าผู้รับจ้าง ฯลฯ ทำการไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายในกำหนดเวลาหรือล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จบริบูรณ์ไปแล้วก็ดี หรือผู้รับจ้างทำผิดสัญญานี้ข้อหนึ่ง ข้อใดก็ดีผู้ว่าจ้างมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญานี้ได้ และการที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำการล่วงกำหนดเวลาไปนั้น ก็ไม่หมายความว่าผู้ว่าจ้างผ่อนเวลาให้แก่ผู้รับจ้างอันจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญานี้

 

ในกรณีมีการผิดสัญญาตามความในวรรคก่อน กรณีจะเป็นเรื่องที่ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาหรือให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างล่วงเวลาไป ผู้รับจ้างยินยอมรับผิดต่อผู้ว่าจ้างดังต่อไปนี้

 

ก. ให้ปรับเป็นรายวันวันละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน) จนกว่างานสร้างเสาและพาดสายรายนี้จะแล้วเสร็จโดยการกระทำของตนเองหรือการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่ ตามที่ปรากฏในข้อ 6

 

ข. เรียกค่าเสียหายที่ต้องเสียไป เนื่องจากการที่ผู้รับจ้างผิดสัญญารวมทั้งผลโดยตรงและเกี่ยวเนื่องจากเหตุที่ผู้รับจ้างทำผิดสัญญานั้น

 

ในกรณีที่ผู้รับจ้างทำงานเสร็จล่วงเลยกำหนดเวลาตามสัญญานี้ผู้รับจ้างจะต้องจ่ายค่าควบคุมงานให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างต้องจ้างผู้ควบคุมงานนั้นอีกต่อหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาแล้วเสร็จตามสัญญา จนถึงวันที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานหรือต้องหยุดทำงานเพราะผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาเป็นรายวันวันละ 50 บาท (ห้าสิบบาทถ้วน)อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าปรับค่าเสียหายดังกล่าวไว้ข้างต้นด้วย

 

ค. สิ่งก่อสร้างและสัมภาระอุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับจ้างคงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยไม่ต้องใช้ราคาแก่ผู้รับจ้าง

 

ผู้ว่าจ้างทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดใช้แต่ค่าปรับอย่างเดียวหรือค่าเสียหายและริบสัมภาระอุปกรณ์การก่อสร้างดังกล่าวในข้อ ข.ค. ด้วยหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ให้ผู้ว่าจ้างมีอำนาจที่จะยึดและหักเงินค่าจ้างที่ค้างชำระไว้เพื่อเป็นค่าทดแทนดังกล่าวนั้นได้”

 

ศาลฎีกาเห็นว่าตามสัญญาข้อ 5 นี้ ให้สิทธิผู้ว่าจ้างคือจำเลยในอันที่จะบอกเลิกสัญญากับโจทก์ได้หลายกรณี และเมื่อบอกเลิกสัญญาแล้วก็ให้สิทธิจำเลยที่จะเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ตามข้อ ก.ข.ค.ประการใดประการหนึ่งหรือจำเลยจะเลือกปฏิบัติรวมกันทั้งสามประการก็ได้ โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญา จำเลยได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้วและเลือกที่จะปฏิบัติตามข้อ ค. ด้วย จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างหรือค่าผลงาน 113 งวดที่โจทก์อ้างว่าได้ส่งมอบให้จำเลยแล้วนั้นแต่อย่างใดเพราะสิ่งก่อสร้างดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแล้วโดยไม่ต้องใช้ราคาตามสัญญาข้อ 5 ค. ไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นฎีกาข้อ 2 ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่

 

ประเด็นฎีกาข้อ 6 เรื่องค่าเสียหายที่จำเลยฟ้องอ้างว่างาน 113 งวด ที่โจทก์ขอส่งมอบให้จำเลย มีข้อบกพร่องเพราะเสาโทรเลขสร้างผิดแบบและขาดจำนวนตามสัญญา ต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ให้แก่จำเลยเป็นเงิน 2,689,766 บาท ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเพียงแต่บอกเลิกสัญญากับโจทก์และริบเอาผลงานที่โจทก์ขอส่งมอบดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยไม่ต้องชำระราคาให้แก่โจทก์ตามที่ได้วินิจฉัยมาในประเด็นฎีกาข้อ 1 จำเลยไม่เสียหายแต่ประการใดจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพราะเสาผิดแบบและขาดจำนวนอีก

 

ตามที่วินิจฉัยมาข้างต้น จึงสรุปได้ว่าโจทก์จะต้องรับผิดชำระเงินค่าปรับกับค่าคุมงานรวมเป็นเงิน 1,037,300 บาท ให้แก่จำเลย และยังจะต้องคืนอุปกรณ์การก่อสร้างหรือใช้ให้แก่จำเลยตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.63 ถึง ล.80 อีกด้วยซึ่งถ้าไม่คืน ก็จะต้องใช้ราคาแต่ละหน่วยตามราคาในสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.280 ส่วนจำเลยไม่จำต้องรับผิดชำระเงินค่าจ้างหรือค่าผลงาน 113 งวดที่โจทก์อ้างว่าได้ส่งมอบให้แก่จำเลยนั้นแต่อย่างใด เพราะจำเลยมีสิทธิริบเอาไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยไม่ต้องใช้ราคาให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างข้อ 5 ค.

 

อย่างไรก็ดี การที่โจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาอันเป็นเหตุให้จำเลยบอกเลิกสัญญา และใช้สิทธิริบเอาสิ่งก่อสร้างหรือผลงาน 113 งวดของโจทก์มาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยได้โดยไม่ต้องใช้ราคาให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างข้อ 5 ค. นี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาข้อความในสัญญาจ้างข้อดังกล่าวนี้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่โจทก์ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 แก่จำเลยผู้ว่าจ้างและเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ปัญหาจึงมีว่าการที่จำเลยใช้สิทธิริบเอาเบี้ยปรับหรืออีกนัยหนึ่งคือสิ่งก่อสร้างหรือผลงาน 113 งวด ของโจทก์เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเสียทั้งหมดโดยไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์เลยนี้ เป็นการริบเอาเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนซึ่งสมควรจะลดลงได้เพียงใดหรือไม่ ปรากฏว่าสิ่งก่อสร้างหรือผลงาน 113 งวดของโจทก์ที่จำเลยมีสิทธิริบในฐานะที่เป็นเบี้ยปรับตามสัญญาจ้างข้อ 5 ค.มีราคาเป็นเงิน11,230,359 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยจะริบเอาเป็นของจำเลยเสียทั้งหมด โดยไม่ต้องชำระราคา ไม่มีการชดเชยให้แก่โจทก์บ้างเลยนั้น เป็นเบี้ยปรับที่ค่อนข้างสูงเกินส่วน ไม่เหมาะสมกับรูปคดี เพราะในการที่โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามสัญญานั้น นอกจากอุปกรณ์การก่อสร้างบางอย่างซึ่งตามฟ้องของจำเลยว่าได้ส่งมอบให้แก่โจทก์ไปใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดเป็นราคา 8,846,619 บาท 43 สตางค์แล้ววัสดุก่อสร้างหรือค่าใช้จ่ายอย่างอื่น ๆ โจทก์ก็เป็นผู้ออกเองทั้งสิ้นทั้งอุปกรณ์การก่อสร้างที่จำเลยส่งมอบให้โจทก์ไปนี้ ก็ยังมีอยู่ส่วนหนึ่งที่เหลือใช้คือที่โจทก์จะต้องคืนให้แก่จำเลยตามจำนวนที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.63 ถึง จ.80 มิได้ใช้หรือสูญหายไปทั้งหมด นอกจากนี้โจทก์ยังจะต้องชดใช้เงินค่าปรับและค่าคุมงานรวมเป็นเงิน 1,037,300 บาท ให้แก่จำเลยอีกจำนวนหนึ่งด้วย เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างประกอบกับสภาพหรือผลงานของโจทก์และพฤติการณ์ของโจทก์ที่ปฏิบัติมาในการดำเนินการก่อสร้างตามที่ปรากฏในท้องสำนวนเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงบ้าง โดยลดให้คิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าปรับ ค่าคุมงานและค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเหลือใช้ที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้หรือคืนให้แก่จำเลยทั้งหมด เมื่อหักจำนวนที่ลดลงแล้ว ส่วนที่เหลือจึงเป็นเบี้ยปรับส่วนที่จำเลยริบ

 

ประเด็นฎีกาข้อ 7 เรื่องหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่โจทก์นำมามอบให้จำเลยยึดถือไว้เป็นการค้ำประกันความรับผิดตามสัญญาจ้าง โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญา จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีฟังได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่อย่างไรก็ดีเมื่อมีการลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์โดยลดให้คิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าปรับ ค่าคุมงานและค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเหลือใช้ที่โจทก์จะต้องชดใช้หรือคืนให้แก่จำเลยทั้งหมดตามที่กล่าวมาข้างต้น ในเมื่อจำเลยริบเอาสิ่งก่อสร้างหรือผลงาน 113 งวดของโจทก์ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยหมดแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าปรับ ค่าคุมงานและค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเหลือใช้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว ไม่มีหนี้ที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ให้แก่จำเลยอีก จำเลยจึงต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่โจทก์

 

 

 

พิพากษาแก้เป็นว่า สำนวนคดีที่บริษัท ส. นิมิตก่อสร้าง จำกัดเป็นโจทก์ ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาคลองเตย 6 ฉบับที่จำเลยยึดถือไว้ให้แก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก สำนวนคดีที่กรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นโจทก์ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้บังคับบริษัท ส. นิมิตก่อสร้าง จำกัดฯ จำเลยคืนหรือใช้ค่าปรับ ค่าคุมงานหรือค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเหลือใช้เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

สรุป

โจทก์รับจ้างจำเลยหล่อและปักเสาพาดสายโทรเลข สัญญาจ้างมีข้อความว่า ถ้าผู้รับจ้างผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ และผู้รับจ้างยินยอมให้สิ่งก่อสร้างและสัมภาระอุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับจ้างตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ว่าจ้างโดยไม่ต้องใช้ราคาแก่ผู้รับจ้าง โจทก์ผิดสัญญาใช้เสาผิดแบบและก่อสร้างไม่ทันกำหนด จำเลยบอกเลิกสัญญาแล้วใช้สิทธิริบสิ่งก่อสร้างหรือผลงานที่โจทก์ทำมาแล้วดังนี้ กรรมสิทธิ์ในสิ่งก่อสร้างดังกล่าวตกเป็นของจำเลยแล้วโดยจำเลยไม่ต้องใช้ราคาเมื่อเป็นดังนี้แล้วจำเลยไม่เสียหายแต่ประการใด จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเพราะเสาผิดแบบและขาดจำนวนอีก

ข้อตกลงให้ผู้ว่าจ้างริบเอาสิ่งก่อสร้างหรือผลงานโดยไม่ต้องใช้ราคาเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่ผู้รับจ้างให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่ผู้ว่าจ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 382 ถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา 383 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3/2524)

เมื่อจำเลยริบเอาสิ่งก่อสร้างหรือผลงานของโจทก์ไว้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยและศาลลดเบี้ยปรับให้โจทก์โดยลดให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับเงินค่าปรับ ค่าคุมงานและค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเหลือใช้ที่โจทก์จะต้องชดใช้หรือคืนให้จำเลยแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชำระค่าปรับ ค่าคุมงานและค่าเครื่องอุปกรณ์การก่อสร้างเหลือใช้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วไม่มีหนี้ที่โจทก์จะต้องรับผิดชดใช้ให้จำเลยอีก จำเลยต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้แก่โจทก์