การปรับลดค่าเสียหายในคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

การปรับลดค่าเสียหายในคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1379/2534

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์หน้าวัดสระบัวกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 มิถุนายน 2527 และหากไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจะถูกปรับวันละ 3,000 บาท โจทก์ได้ทำการก่อสร้างเสร็จและส่งมอบให้จำเลยล่าช้าเกินกำหนดไป 71 วัน ได้ถูกจำเลยปรับเป็นเงิน 213,000 บาท เหตุที่การก่อสร้างล่าช้าไม่เสร็จในกำหนดเวลาที่ระบุในสัญญาจ้างนั้น เนื่องจากแบบรูปรายละเอียดบางรายการคลาดเคลื่อนมีข้อขัดแย้ง ต้องรอคำวินิจฉัยของจำเลยหรือคณะควบคุมงานของจำเลย สถานที่ก่อสร้างมีบ้านเรือนราษฎรปลูกกีดขวางอยู่จำเลยมิได้จัดการให้มีการรื้อถอนออกไป และระหว่างก่อสร้างฝนตกหนักน้ำท่วม เป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์ต้องหยุดงานก่อสร้าง โจทก์ไม่ผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิจะปรับโจทก์ ขอให้จำเลยคืนเงินค่าปรับแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 106,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ เจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ทำการก่อสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามคลองรังสิตประยูรศักดิ์ โจทก์ผิดสัญญาได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามแบบแปลนและส่งมอบแก่จำเลยล่าช้าเกินกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาจ้าง 71 วัน จำเลยได้ปรับโจทก์ตามสัญญาวันละ3,000 บาท เป็นเงิน 213,000 บาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อพิจารณาว่าแบบแปลนก่อสร้างระบุความยาวของระยะคอสะพานขาดไป8 เมตร และมีบ้านราษฎรกีดขวางแนวก่อสร้างประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยมีความเร่งด่วนหรือมีความเสียหายพิเศษในการก่อสร้างล่าช้าอย่างใด เห็นว่าค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญานั้นสูงเกินส่วน จึงให้ลดลงคงปรับเพียงวันละ 1,500 บาท พิพากษาให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ 106,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าปรับคืนจากจำเลยโดยอ้างว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา มิได้บรรยายในคำฟ้องว่าค่าปรับที่กำหนดในสัญญาจ้างสูงเกินส่วน และโจทก์มิได้ขอให้ศาลลดค่าปรับ จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้นคดีไม่มีประเด็นว่าค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาจะสูงเกินส่วนหรือไม่เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาก็ต้องชำระค่าปรับตามที่ตกลงกันไว้ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยลดเบี้ยปรับให้ต่ำลงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นและเกินคำขอไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142

มีปัยหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ลดค่าปรับให้แก่โจทก์นั้นเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่าเกี่ยวกับค่าปรับนี้ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นไว้ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนค่าปรับหรือชดใช้เงินค่าจ้างให้โจทก์เพียงใดหรือไม่ ดังนั้นค่าปรับหรือเบี้ยปรับจึงเป็นประเด็นโดยตรง ซึ่งตามสัญญาจ้างข้อ 19 กำหนดว่า “ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบงานล่าช้ากว่าวันแล้วเสร็จตามสัญญา แต่ผู้ว่าจ้างยังมิได้บอกเลิกสัญญาผู้รับจ้างยอมให้ผู้ว่าจ้างดำเนินการดังต่อไปนี้ คือ

(1) ปรับผู้รับจ้างเป็นรายวัน วันละ 3,000 บาท นับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดวันแล้วเสร็จตามสัญญาจนถึงวันที่งานแล้วเสร็จบริบูรณ์… “ดังนั้นเบี้ยปรับดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้กำหนดกันไว้ล่วงหน้า ฟ้องโจทก์ก็ได้บรรยายไว้ว่าโจทก์มิได้เป็นฝ่ายบกพร่องในเหตุที่ทำงานล่าช้าและขอคืนเงินค่าปรับทั้ง 213,000 บาท ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่แท้จริงแล้วสูงเกินไป จึงกำหนดลดต่ำลงคืนให้แก่โจทก์บางส่วน จึงไม่ใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอและไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นแต่อย่างใด ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับลงได้หากเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน เมื่อศาลเห็นสมควร โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย…”

พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น.

สรุป

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายบกพร่องในเหตุที่ทำงานล่าช้าและขอคืนค่าปรับทั้งหมด ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนค่าปรับ หรือชดใช้เงินค่าจ้างให้โจทก์เพียงใดหรือไม่ ดังนั้นค่าปรับหรือเบี้ยปรับจึงเป็นประเด็นโดยตรง และเมื่อศาลเห็นว่าค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเปรียบเทียบกับความเสียหายที่แท้จริงแล้วสูงเกินไป จึงกำหนดลดต่อลงได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ และไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 เป็นอำนาจของศาลที่จะใช้ดุลพินิจลดค่าปรับ หรือเบี้ยปรับลงได้ หากเห็นว่าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย.