โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 200,124.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2555 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด 1 ห้องกับจำเลย มีข้อตกลงว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2556 ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2560 จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาที่จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาขึ้นวินิจฉัยเป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความจึงอาจตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์เมื่อเกินเวลาที่กำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาได้ถือว่าจำเลยผิดสัญญา แต่โจทก์ไม่ได้บอกกล่าวสงวนสิทธิ์ในการเรียกเบี้ยปรับไว้ในวันที่รับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด จึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับตามฟ้อง แม้คำพิพากษาดังกล่าวเป็นการตัดสินให้จำเลยชนะคดีก็ตามแต่ในส่วนที่วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์เมื่อเกินเวลาที่กำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาได้ถือว่าจำเลยผิดสัญญานั้นเป็นการวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาฟังไม่ขึ้น จำเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาได้ แม้จำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้โต้แย้งโดยกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา คดีในชั้นอุทธรณ์จึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทกันในปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อแรกฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า จำเลยผิดสัญญาไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 4.6 วรรคแรกระบุว่าจำเลยจะโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2556 วรรคสองระบุว่าโจทก์จะรับโอนกรรมสิทธิ์ต่อเมื่อจำเลยได้ก่อสร้างอาคารและห้องชุดถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2556 จำเลยยังก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จจึงไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์กัน แต่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญา ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 20 กันยายน 2558 แจ้งโจทก์ถึงเหตุขัดข้องก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและขอขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปโดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ภายในเดือนมีนาคม 2559 โดยส่งหนังสือดังกล่าวทางไปรษณีย์ให้โจทก์ตามที่อยู่ของโจทก์ที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งผู้รับหนังสือแทนโจทก์เกี่ยวพันกับโจทก์โดยเป็นน้อง ซึ่งโจทก์ไม่โต้แย้งว่าไม่ถูกต้องอย่างใด จึงรับฟังได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งเหตุขัดข้องการก่อสร้างและขอขยายระยะเวลาดังกล่าวจากจำเลยแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์คัดค้านการขอขยายระยะเวลาของจำเลย เมื่อรับฟังประกอบกับการที่โจทก์ก็ไม่ได้บอกเลิกสัญญาหลังจากครบกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาข้อ 4.6 วรรคแรก และตามสัญญาข้อ 4.6 วรรคสองระบุว่าโจทก์จะรับโอนกรรมสิทธิ์ต่อเมื่อจำเลยได้ก่อสร้างอาคารและห้องชุดถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาแล้ว พฤติการณ์ถือได้ว่า โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ออกไปภายในเดือนมีนาคม 2559 แต่พยานจำเลยไม่ได้นำสืบว่าเมื่อถึงเดือนมีนาคม 2559 จำเลยสร้างอาคารและห้องชุดเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด และกลับปรากฏว่าจำเลยเพิ่งมีหนังสือลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 แจ้งโจทก์ว่าพร้อมส่งมอบห้องชุด ขอให้โจทก์ไปตรวจสอบห้องชุดได้ตั้งแต่วันที่ 6 ถึง 12 มีนาคม 2560 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ต่อจากเดือนมีนาคม 2559 กับโจทก์ต่อมาอีกแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2558 สำนักงานเขตบางซื่อมีคำสั่งให้จำเลยระงับการก่อสร้างเนื่องจากทางเข้าออกของรถไม่ถูกต้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนคำสั่งระงับการก่อสร้างดังกล่าวตามหนังสือแจ้งเพิกถอนคำสั่งของสำนักงานเขตบางซื่อลงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 กรณีดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้จำเลยไม่สามารถก่อสร้างอาคารชุดเสร็จทันโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้นั้น เห็นว่า จำเลยไม่ได้ให้การว่าการก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากมีคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างจากสำนักงานเขตบางซื่อ ข้อนำสืบส่วนนี้จึงเป็นเรื่องนอกประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟัง ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นกำหนดนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่โจทก์จำเลยตกลงให้ขยายระยะเวลามาดังที่วินิจฉัยข้างต้น จำเลยจึงผิดสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับจากจำเลยที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ล่าช้าไม่ตรงตามเวลาที่กำหนดหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 7.4.2 ระบุว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาห้องชุดแต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 ซึ่งวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ์ไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้” ตามทางนำสืบโจทก์เบิกความตอบทนายโจทก์ซักถามว่า ในวันที่ 30 สิงหาคม 2560 โจทก์และตัวแทนจำเลยไปจดทะเบียนทำสัญญาซื้อขายห้องชุด ณ สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาจตุจักร โดยโจทก์ได้ชำระราคาส่วนที่เหลือครบถ้วนในวันดังกล่าว และโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ได้โต้แย้งกับนางสาวแก้มพนักงานฝ่ายขายของจำเลยทางโทรศัพท์ว่าหากเนิ่นนานเกินโจทก์จะฟ้องคดี และในวันโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนางสาวแก้มไม่ได้ไปด้วยแต่มีนางสาวก้อตัวแทนฝ่ายจำเลยไป วันดังกล่าวโจทก์ไม่ได้โต้แย้งเป็นหนังสือใด ๆ ไปยังจำเลยเพียงแต่แจ้งกับนางสาวก้อด้วยวาจาเท่านั้น ส่วนจำเลยนำสืบโดยนายมนตรี ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและนิติกรรมของจำเลยมีหน้าที่ดูแลเรื่องโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ลูกค้าเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยไม่เคยได้รับแจ้งว่ามีการโต้แย้งจากโจทก์เกี่ยวกับเรื่องการสงวนสิทธิ์เรียกค่าปรับล่าช้า และตอบทนายจำเลยถามติงว่า หากมีการแจ้งสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับ ฝ่ายขายก็จะแจ้งให้พยานทราบ แต่คดีนี้ฝ่ายขายไม่ได้แจ้งให้พยานทราบแต่อย่างใด เห็นว่า ตามคำเบิกความของโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่าขณะที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดโจทก์ได้บอกกับฝ่ายจำเลยว่าโจทก์สงวนสิทธิ์ที่จะเรียกค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ล่าช้าแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่าโจทก์บอกกับนางสาวแก้มพนักงานฝ่ายขายของจำเลยทางโทรศัพท์ว่าโจทก์จะฟ้องคดีและตอนจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดโจทก์ได้โต้แย้งด้วยวาจากับนางสาวก้อตัวแทนฝ่ายจำเลยนั้น ไม่มีรายละเอียดว่าโจทก์จะฟ้องคดีและได้โต้แย้งด้วยวาจาในเรื่องอะไร จึงไม่ชัดเจนพอที่จะรับฟังว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาสงวนสิทธิ์ในการปรับไว้ ที่นายมนตรีพยานจำเลยเบิกความว่าจำเลยไม่เคยได้รับแจ้งว่าโจทก์ได้มีการสงวนสิทธิ์เรียกค่าปรับไว้จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ดังนี้ พยานโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิ์กับจำเลยไว้ว่าจะเรียกเอาค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
สรุป
คำแก้อุทธรณ์เป็นคำคู่ความ คู่ความจึงอาจตั้งประเด็นมาในคำแก้อุทธรณ์ได้ แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสินให้จำเลยชนะคดีก็ตามแต่ในส่วนที่วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดสัญญาเป็นการวินิจฉัยว่าข้อต่อสู้ในคำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญาฟังไม่ขึ้น จำเลยย่อมมีสิทธิโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่วินิจฉัยว่าจำเลยผิดสัญญาได้ แม้จำเลยมิได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้โต้แย้งโดยกล่าวมาในคำแก้อุทธรณ์ว่าข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญา คดีในชั้นอุทธรณ์จึงยังคงมีประเด็นข้อพิพาทในปัญหาว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่อยู่ ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกปัญหาในประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้วจำเลยก่อสร้างอาคารและห้องชุดไม่เสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ได้ทันภายในเดือนมีนาคม 2559 ซึ่งเป็นกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ที่โจทก์จำเลยตกลงให้ขยายระยะเวลา จำเลยจึงผิดสัญญาข้อตกลงในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดข้อ 7.4.2 ระบุว่า หากจำเลยไม่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้แล้ว โจทก์ไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.01 ของราคาห้องชุดแต่รวมกันแล้วไม่เกินร้อยละสิบของราคาห้องชุด ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อไม่ชำระหนี้ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 ซึ่งวรรคสามของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิ์ไว้เช่นนั้นในเวลารับชำระหนี้” เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า โจทก์ได้บอกสงวนสิทธิ์กับจำเลยไว้ว่าจะเรียกเอาค่าปรับจากการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดล่าช้าไม่ตรงตามกำหนดในสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าปรับตามฟ้องจากจำเลย