ต่อเติมบ้านแบบไหนไม่ต้องขออนุญาต

ต่อเติมบ้านแบบไหนไม่ต้องขออนุญาต

หลายๆ ครั้งเมื่อได้ซื้อบ้านและเข้าอยู่อาศัยแล้ว เจ้าของบ้านก็อยากปรับเปลี่ยนบ้านมุมต่างๆ ให้ตนเองสะดวกในการใช้งาน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศให้ความสวยงามมากขึ้น หรือต้องการพื้นที่ใช้สอยให้มากขึ้น ก็ต้องใช้การต่อเติมดัดแปลงอาคารหรือบ้านต่างๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของบ้าน ซึ่งเมื่อมีการต่อเติมหรือดัดแปลงอาคารแล้วหากทำไม่ถูกต้องก็อาจกลายเป็นเป็นหาใหญ่ได้ ไม่วาจะเป็นการทะเลาะกับเพื่อนบ้าน หรือการที่จะต้องรับโทษตามกฎหมายและต้องรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมออกไป ดังนั้นก่อนที่จะมีการต่อเติมบ้านแล้ว เจ้าของบ้านที่จะต่อเติมจึงควรจะทราบก่อนว่าการต่อเติมแบบไหนบ้างที่ต้องขออนุญาต หรือแบบไหนไม่ต้องขออนุญาตจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายของบ้านเมือง และจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะการต่อเติมไม่ถูกต้องต่อไปในอนาคต โดยตามกฎหมายแล้วมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่อเติมบ้านอยู่ในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงฉบับที่ 11 พ.ศ. 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งขออธิบายดังนี้

ตามมาตรา 39 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดให้ ผู้ที่ต้องการจะก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร จะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบ และต้องแจ้งข้อมูลต่างๆ แก่เจ้าพนักงานให้ครบถ้วน ดังนั้นโดยหลักแล้วการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร จะต้องมีการขออนุญาตก่อนเสมอ แต่กรณีที่ได้รับยกเว้นให้สามารถดัดแปลง ต่อเติม อาคารได้โดยไม่ต้องขออนุญาต จะมีอยู่ในข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 11 พ.ศ. 2528 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ข้อ 1 การกระทำดังต่อไปนี้ ไม่ถือเป็นการดัดแปลงอาคาร คือ

(1) การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารโดยใช้วัสดุขนาด จำนวนและชนิดเดียวกับของเดิม เว้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างของอาคารที่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก คอนกรีตอัดแรง หรือเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ

(2) การเปลี่ยนส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคาร โดยใช้วัสดุชนิดเดียวกับของเดิม หรือวัสดุชนิดอื่นซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ

(3) การเปลี่ยนแปลง การต่อเติม การเพิ่ม การลด หรือการขยายซึ่งลักษณะ ขอบเขต แบบ รูปทรง สัดส่วน น้ำหนัก เนื้อที่ของส่วนต่าง ๆ ของอาคารที่ไม่เป็นโครงสร้างของอาคารซึ่งไม่เป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่โครงสร้างของอาคารเดิมส่วนหนึ่งส่วนใดเกินร้อยละสิบ

(4) การลดหรือการขยายเนื้อที่ของพื้นชั้นหนึ่งชั้นใด ให้มีเนื้อที่น้อยลงหรือมากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน หรือ

(5) การลดหรือการขยายเนื้อที่ของหลังคา ให้มีเนื้อที่มากขึ้นรวมกันไม่เกินห้าตารางเมตร โดยไม่ลดหรือเพิ่มจำนวนเสาหรือคาน

(6) การติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคารอยู่อาศัยที่มีขนาดพื้นที่ติดตั้งไม่เกิน 160 ตารางเมตร และมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อตารางเมตร โดยต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงที่กระทำและรับรองโดยวิศวกรโยธาตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรว่าสามารถติดตั้งได้อย่างปลอดภัย และแจ้งให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบก่อนดำเนินการ

ทั้งนี้ การกระทำตามวรรคหนึ่งต้องไม่ขัดต่อกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 8 ข้อบัญญัติท้องถิ่นที่ออกตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 หรือประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามมาตรา 13 หรือมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

มีปัญหาคดีความปรึกษาทีมงานทนายวิศวะ

โทร 086-807-5928

อ่านบทความเพิ่มเติม https://www.englawyers.com/