วันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องในคดีก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประมูลและทำสัญญากับจำเลยก่อสร้างอาคารสถานีต้นทางชิดลม พร้อมด้วยฐานแท่นหม้อแปลง รางเคเบิ้ลถนนภายใน และรั้วล้อมรอบบริเวณในที่ดินของจำเลยซอยชิดลมแขวงและเขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นเงินค่าจ้างตามสัญญา13,386,000 บาท จำเลยสั่งเพิ่มเติมงานอีกเป็นเงิน 292,248.99 บาท กับเงินค่าเพิ่มเติมแบบแปลน 65,351.50 บาท แต่มีการยกเลิกงานบางส่วนคิดเป็นเงิน 350,000 บาท รวมเป็นเงินที่จำเลยจ้างโจทก์13,393,600.49 บาท โจทก์ก่อสร้างจนแล้วเสร็จและส่งมอบให้จำเลยเรียบร้อยแล้ว จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ 10,225,933.84 บาทครั้งสุดท้ายจำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับอีก 1,087,296.84 บาทยังคงค้างอยู่อีก 3,167,666.65 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าว จำเลยแจ้งว่าโจทก์ทำงานก่อสร้างล่าช้าต้องเสียค่าปรับ ค่าวัสดุผิดรายละเอียดที่กำหนด ค่าซ่อมหลังคาอาคารและค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องเสียให้บริษัทผู้ขายและรับจ้างติดตั้งอุปกรณ์ความจริงแล้วเหตุที่งานก่อสร้างล่าช้าเป็นเพราะจำเลยสั่งเปลี่ยนแปลงรายการก่อสร้างบ้าง เพราะเหตุสุดวิสัยบ้างซึ่งมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยจึงอ้างเป็นเหตุหักค่าปรับตามสัญญาไม่ได้ และจำเลยก็หักค่าปรับซ้ำซ้อน ทั้งจำเลยก็มิได้เสียค่าใช้จ่ายให้แก่บริษัทผู้ขายและรับติดตั้งอุปกรณ์ตามที่อ้างแต่อย่างใด จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างที่ยังค้างชำระ3,167,666.65 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์2522 อันเป็นวันที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับเงินที่ค้างชำระบางส่วนถึงวันฟ้องซึ่งโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในส่วนนี้จำนวน340,000 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ย 3,507,666.65 บาทจึงขอให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 3,167,666.65 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าสาเหตุที่โจทก์ก่อสร้างอาคารสถานีต้นทางชิดลมล่าช้ากว่ากำหนดเป็นเพราะความผิดของโจทก์เอง จำเลยจึงมีสิทธิปรับโจทก์ได้ตามสัญญาและไม่ได้ปรับซ้ำซ้อนกัน จำเลยได้จ่ายเงินค่าปรับค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ก่อสร้างงานล่าช้าทำให้จำเลยผิดสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทผู้ขายและรับติดตั้งอุปกรณ์ให้แก่บริษัทผู้ขายและรับติดตั้งอุปกรณ์ไปจริง กับตัดฟ้องว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและขาดอายุความ นอกจากนั้นจำเลยหักค่าจ้างไว้เพียง 2,576,809.20 บาท เท่านั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาเงินส่วนที่เกิน ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,399,792.50บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน2,169,304 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คดีของโจทก์ไม่ขาดอายุความหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กรณีเรื่องนี้เป็นการจ้างทำของ ซึ่งจะต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำอันมีความหมายในทางกลับกันว่า ผู้รับจ้างย่อมเรียกร้องเอาสินจ้างจากผู้ว่าจ้างได้เมื่อผู้ว่าจ้างรับมอบการที่ทำ ดังนั้นอายุความที่ผู้รับจ้างจะเรียกร้องเอาสินจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงย่อมเริ่มต้นนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป มีกำหนดเวลา 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ทั้งนี้เว้นแต่จะมีเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงหรือสะดุดหยุดอยู่ คดีนี้แม้จะปรากฏว่าจำเลยรับมอบงานครั้งสุดท้ายจากโจทก์ก่อนวันที่ 4กรกฎาคม 2521 และโจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 24 สิงหาคม 2523เป็นเวลาเกิน 2 ปี เกินกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ก็ตาม แต่ก็ได้ความตามหนังสือของจำเลยที่มีไปถึงโจทก์ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522 ตามเอกสารหมาย จ.18 เท้าความถึงหนังสือของโจทก์ที่ขอความเป็นธรรมในการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติม และเรียกร้องเกี่ยวกับการหักเงิน ซึ่งจำเลยพิจารณาแล้วเห็นสมควรเพิ่มเวลาการต่ออายุสัญญาให้อีก 7 วัน ส่วนเงินค่าจ้างกับเงินค่าปรับเมื่อได้รับการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมอีก 7 วัน จำเลยเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับดังนี้ 1. ค่าจ้างที่ยังไม่ได้จ่าย 653,794.85 บาท 2. ค่าจ้างเนื่องจากการปรับราคา 292,248.99 บาท และ 3. ลดค่าปรับ 7 วัน ๆ ละ 20,179 บาท เป็นเงิน 141,253 บาทรวมเป็นเงิน 1,087,296.84 บาท จำเลยจึงขอให้โจทก์มีหนังสือยืนยันขอรับเงินจำนวนดังกล่าวให้จำเลยไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้โจทก์ต่อไป ตามหนังสือของจำเลยดังกล่าวมีความหมายอยู่ในตัวว่าจำเลยได้หักเงินค่าจ้างตามสัญญาว่าจ้างที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ไว้จริง เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะหักไว้และขอให้จำเลยพิจารณาทบทวน ครั้นจำเลยพิจารณาแล้วยอมรับว่า ที่จำเลยหักไว้หรือไม่ยอมจ่ายให้โจทก์มีบางส่วนที่ไม่ถูกต้องจริงจึงยอมคืนส่วนที่จำเลยเห็นว่าจำเลยไม่มีสิทธิหักไว้คืนให้โจทก์ แม้เป็นการโต้เถียงในเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยจะพึงจ่ายให้โจทก์ที่โจทก์จำเลยมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ก็ฟังได้โดยปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่า จำเลยยอมรับต่อโจทก์ว่าจำเลยได้หักเงินค่าจ้างหรือยังมิได้จ่ายค่าจ้างบางส่วนที่ไม่ถูกต้องตามสัญญาจ้างที่โจทก์เรียกร้องและยอมใช้เงินบางส่วนนั้นให้โจทก์ จึงเป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 นับตั้งแต่จำเลยมีหนังสือเอกสารหมาย จ.18 ถึงโจทก์คือวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2522ถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องคือวันที่ 14 สิงหาคม 2523 ยังไม่เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ทั้งนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 ปัญหาข้อนี้แม้จะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และโจทก์ก็มิได้ฎีกาขึ้นมา แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความและศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วศาลฎีกาย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลยรับสภาพหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็นแต่ประการใด ฎีกาข้ออื่นของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยที่ว่าโจทก์ส่งมอบงานให้จำเลยตรวจรับงานในวันที่ 4 กุมภาพันธ์2521 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่
สรุป
จำเลยจ้างให้โจทก์ก่อสร้างอาคาร ฐานแทนหม้อแปลงรางเคเบิ้ล ถนนภายใน และรั้ว เป็นการจ้างทำของ ผู้รับจ้างย่อมเรียกร้องเอาสินจ้างจากผู้ว่าจ้างได้เมื่อผู้ว่าจ้างรับมอบการที่ทำ อายุความที่ผู้รับจ้างจะเรียกร้องเอาสินจ้างจากผู้ว่าจ้างจึงเริ่มนับแต่นี้เป็นต้นไปมีกำหนดเวลา 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) จำเลยผู้ว่าจ้างมีหนังสือถึงโจทก์ผู้รับจ้างเท้าความถึงหนังสือของโจทก์ที่ขอความเป็นธรรมในการต่ออายุสัญญาเพิ่มเติมและเรียกร้องเกี่ยวกับการหักเงินซึ่งจำเลยพิจารณาแล้วเห็นควรเพิ่มเวลาการต่ออายุสัญญาให้ ส่วนเงินค่าจ้างจำเลยเห็นว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเป็นจำนวนตามที่จำเลยกำหนดได้ขอให้โจทก์มีหนังสือยืนยันของรับเงินตามที่จำเลยคำนวณได้ให้จำเลยไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินการให้โจทก์ต่อไปอันเป็นการโตแย้งในเรื่องจำนวนเงินที่จำเลยจะพึงจ่ายให้โจทก์ที่โจทก์จำเลยมีความเห็นไม่ตรงกัน หนังสือของจำเลยดังกล่าวฟังได้โดยปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับต่อโจทก์ว่า จำเลยยังมิได้จ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนตามสัญญาจ้างที่โจทก์เรียกร้อง และยอมรับใช้เงินบางส่วนนั้นให้โจทก์ เป็นการยอมรับสภาพต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง อายุความเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลงเมื่อนับตั้งแต่จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกินกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ กรณีจำเลยให้การต่อสู้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ และศาลชั้นต้นได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้แล้ว ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยได้ว่าจำเลยรับสภาพหนี้เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง และคดีไม่ขาดอายุความ ไม่เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น