ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการผิดสัญญาก่อสร้างและการเรียกเงินมัดจำคืนไว้อย่างไรบ้าง

ศาลฎีกาวางหลักเรื่องการผิดสัญญาก่อสร้างและการเรียกเงินมัดจำคืนไว้อย่างไรบ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2532

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้โฆษณาว่าจำเลยที่ 1 จะจัดสร้างอาคารชุดสูง 9 ชั้นจำนวน 150 หน่วย เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชน โจทก์หลงเชื่อได้เข้าทำสัญญาจะซื้อห้องชุดกับจำเลย 9 ห้องชุด ชำระเงินมัดจำให้จำเลยไว้ 210,000 บาท และโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่างวดสำหรับราคาซื้อขายที่เหลืออีก 24 งวด ในช่วงระยะเวลาก่อสร้างงวดสุดท้ายชำระภายในเดือนพฤษภาคม 2527 โดยฝ่ายจำเลยต้องสร้างอาคารชุดตามงวดการชำระเงินด้วย แต่จำเลยไม่ได้ลงมือก่อสร้าง โจทก์ได้ติดต่อจำเลยหลายครั้งก็ได้รับคำตอบว่าจำเลยจะลงมือก่อสร้างแต่มิได้สร้างตามกำหนด ระหว่างที่โจทก์จำเลยเจรจากันอยู่ จำเลยได้มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ชำระค่างวดมิฉะนั้นจะริบมัดจำ โจทก์สงสัยในพฤติกรรมของจำเลยจึงให้ทนายความติดต่อกับจำเลย แต่จำเลยได้รับหนังสือแล้วหาได้ตอบให้โจทก์ทราบไม่ จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงได้บอกเลิกสัญญาเรียกมัดจำคืน แต่จำเลยไม่คืนให้ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 210,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยทั้งสี่ให้การว่า จำเลยทั้งสี่ไม่ได้หลอกลวงโจทก์ โจทก์เข้าทำสัญญาโดยสมัครใจ จำเลยทั้งสี่ไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมชำระเงินค่าห้องชุด 2 งวดติดต่อกัน คืองวดเดือนมิถุนายน 2525 และกรกฎาคม 2525 จำเลยจึงมีหนังสือเลิกสัญญากับโจทก์และริบมัดจำตามสัญญาโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืน ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเงินมัดจำเป็นเงิน 210,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันริบเงินไว้จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสี่ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ประเด็นข้อพิพาทมีเพียงว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายจนเป็นเหตุให้โจทก์มีสิทธิเรียกมัดจำคืนหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดไว้ปรากฎตามเอกสารหมาย จ.4 หรือ ล.5ซึ่งได้กระทำกันเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2525 มีใจความสำคัญเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามข้อ 4 ว่า จำเลยที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จเรียบร้อยภายในเดือนธันวาคม 2526 และตามข้อ 2ของสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่า “ผู้จะซื้อตกลงชำระเงินมัดจำให้ผู้จะขายในวันทำสัญญานี้เป็นเงิน 210,000 บาท และจะชำระในช่วงระยะเวลาก่อสร้างอีกเป็นเงิน 2,160,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นงวด ๆ จำนวน24 งวด ภายในวันที่ 28 ของทุกเดือนจนกระทั่งถึงวันที่ 28 พฤษภาคม2527 ส่วนที่เหลือ…” โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยไม่ได้ก่อสร้างอาคารชุดตามงวดการชำระเงิน ซึ่งคงจะหมายถึงระยะเวลาภายหลังการทำสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งโจทก์มีหน้าที่จะต้องชำระเงินตามงวดตั้งแต่งวดแรกภายในวันที่ 28 มิถุนายน 2525 เป็นต้นไป เห็นว่า ตามสัญญาข้อ 4 ระบุไว้ชัดว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2526 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะผ่อนชำระเงินตามงวดเสร็จสิ้น ดังนั้นที่โจทก์อ้างว่าตามข้อสัญญาหมายความว่าจำเลยต้องดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดตามงวดการชำระเงินนั้น จึงเป็นเพียงการกะประมาณเอาหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโดยแท้จริงก็คือต้องสร้างอาคารชุดให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2526 อย่างไรก็ดี ปรากฎตามเอกสารหมาย ล.6 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2525 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัทผลิตภัณฑ์ซีแมก จำกัด ตอกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ทั้งนี้จำเลยนำสืบว่าก่อนหน้านั้นต้องเจาะสำรวจดินเพื่อหาข้อมูลในการปักเสาเข็มก่อน ซึ่งบริษัทซอยเทสติ้งสยาม จำกัด ผู้รับจ้างเจาะสำรวจดินทำงานล่าช้าไปประมาณ 1 เดือนครึ่ง ซึ่งเป็นปกติวิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคำนวณดูแล้วอย่างน้อยจำเลยก็ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2525 ดังนั้น จึงเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืน ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาและคำแก้ฎีกาอีกอย่างใด เพราะไม่เป็นประโยชน์แก่คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวม 9,000 บาท แทนจำเลยทั้งสี่

สรุป

โจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุด เมื่อวันที่28 พฤษภาคม 2525 ระบุว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2526 และโจทก์ผู้จะซื้อตกลงชำระเงินมัดจำให้ในวันทำสัญญาเป็นเงิน 210,000 บาท และจะชำระในช่วงระยะเวลาก่อสร้างอีก 2,160,000 บาท โดยแบ่งชำระเป็นงวดจำนวน 24 งวด ภายในวันที่ 28 ของทุกเดือน จนกระทั่งถึงวันที่ 28 พฤษภาคม 2527 ปรากฏว่าโจทก์ชำระเงินมัดจำแล้วแต่ไม่ได้ชำระเงินค่างวด เช่นนี้ ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยต้องดำเนินการก่อสร้างตามงวดการชำระเงิน จึงเป็นเพียงการกะประมาณเอาหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาโดยแท้จริง คือสร้างอาคารชุดให้เสร็จภายในเดือน ธันวาคม 2526 ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างบริษัท ผ. ตอกเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2525 และก่อนหน้านั้นต้องเจาะสำรวจดินเพื่อหาข้อมูลในการปักเสาเข็มก่อน ผู้รับจ้างเจาะสำรวจดินทำงานล่าช้าไปประมาณเดือนครึ่งซึ่งเป็นปกติวิสัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคำนวณดูแล้วอย่างน้อยจำเลยก็ได้ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ประมาณกลางเดือนมิถุนายน 2525 ดังนี้จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินมัดจำคืน.(ที่มา-ส่งเสริม)