สิทธิในการบอกเลิกสัญญารับเหมาก่อสร้าง ศาลฎีกาวางหลักไว้อย่างไร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2531
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อสร้างอาคารเรียนขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 10 ล้านบาทเศษโดยให้จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันร่วมรับผิด 1 ล้านบาทเศษ จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ 7 ล้านบาทเศษ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน9,220,000 บาทแก่โจทก์ โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดจำนวน1,057,000 บาท จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยที่ 1 มีสาระสำคัญ2 ประการด้วยกันประการแรกคือ การที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1เข้าทำงานต่อเมื่อล่วงพ้นกำหนดเวลาไปแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อมไม่สามารถทำงานตามที่โจทก์แจ้งได้ จึงย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะปฏิบัติตามได้ กรณีจึงไม่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1ทั้งโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพราะจำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างถูกต้องแล้ว งานงวดที่ 2 ที่ 3 ที่มีปัญหา 3 ประการโจทก์ได้ยอมรับงานไว้และยอมจ่ายเงินค่างวดงานให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วด้วยกรณีถือว่าโจทก์ยอมรับชำระหนี้ในส่วนนี้แล้ว จะนำเอาการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนการชำระหนี้ขึ้นมากล่าวอ้างเพื่อบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 อีกไม่ได้ เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 5 ระบุไว้ว่า “ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายใน 480 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 23 เดือนมกราคม พ.ศ. 2523 ถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือทำการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือล่วงเลยเวลากำหนดไปแล้วก็ดี ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดี ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และการที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำการล่วงกำหนดเวลาไปไม่หมายความว่าผู้ว่าจ้างผ่อนเวลาให้แก่ผู้รับจ้างอันจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญา”ตามสัญญาดังกล่าวกรณีที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอันโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ได้แก่กรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้ลงมือทำงานเลยจนพ้นกำหนดเวลาตามสัญญา หรือลงมือทำงานแต่ทำไม่เสร็จภายในกำหนดหรือปรากฎว่าในการทำงานจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดแต่ในกรณีทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดนี้น่าจะหมายถึงการทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญไม่ใช่หมายความว่าไม่ว่าผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อใดโจทก์ก็ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้เสมอไปเพราะในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 16 มีข้อความตอนหนึ่งว่า “ฯผู้รับจ้างสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและจัดทำงานซึ่งได้ตรวจพบว่าไม่ได้ทำไปโดยความซื่อสัตย์สุจริตและปรากฏว่าไม่ประณีตเรียบร้อยนี้ให้เรียบร้อยดีภายใน 15 วัน” แสดงให้เห็นชัดว่าแม้มีการทำงานผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์ก็ได้ตกลงไว้ว่าจะให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1ในอันที่จะแก้ไขปรับปรุงงานให้เรียบร้อยใน 15 วัน นับแต่ที่มีการตรวจพบและเมื่อจำเลยที่ 1 แก้ไขปรับปรุงตามสัญญาข้อ 16 นี้แล้วก็ไม่อาจจะมาถือเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาได้อีก มิฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อความตามข้อ 16 ไว้ในสัญญา ส่วนที่ในสัญญาระบุไว้ว่าการที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำการล่วงกำหนดเวลาไปไม่หมายความว่าผู้ว่าจ้างผ่อนเวลาให้แก่ผู้รับจ้างนั้น มีความหมายว่าถ้าโจทก์ยอมให้จำเลยทำงานต่อไปอีกทั้ง ๆ ที่พ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะอ้างว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้เองจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาไม่ได้เท่านั้น สำหรับกรณีของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการทำผิดสัญญามี 3 เรื่องด้วยกันคือ ใช้เหล็กเส้นในงานโครงสร้างไม่ตรงตามสัญญา คอนกรีตที่ใช้หล่อคานไม่ได้มาตรฐานเพราะมีน้ำผสมมากเกินไปและเจาะคานคอนกรีตซึ่งเป็นคานกอดินเพื่อวางท่อสายไฟฟ้าและท่อน้ำทิ้งโดยโจทก์ไม่ได้อนุมัติก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าทั้ง 3 กรณีล้วนแต่เป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยตามที่ระบุไว้ในสัญญาตามเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 16 ได้ดังจะเห็นได้ว่าเรื่องใช้เหล็กเส้นไม่ตรงตามรายการที่ระบุไว้ในสัญญา ในที่สุดโจทก์ก็ให้จำเลยที่ 1 ชดเชยเป็นเงินเพียง 7,868 บาทส่วนการเจาะคานคอดินก็เพียงแต่ให้จำเลยที่ 1 ใช้อีพ็อคซี่อุดเท่านั้น ส่วนที่ว่าคอนกรีตที่ใช้หล่อคานไม่ได้มาตรฐานนั้นเมื่อทำการทดสอบน้ำหนักความปลอดภัยของโครงสร้างที่ได้สร้างไปแล้วปรากฏว่า สามารถรับน้ำหนักได้ตามที่กำหนดไว้ในแบบยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังได้ตรวจรับงานงวดที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นงานงวดที่จำเลยที่ 1ทำผิดสัญญาดังกล่าวและได้ชำระเงินให้จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้วโจทก์จึงไม่สามารถหยิบยกเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวขึ้นเพื่อบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์ได้อีกเพราะกรณีมิใช่จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างไม่เสร็จภายในกำหนดสัญญาแต่โจทก์เป็นฝ่ายมีคำสั่งห้ามไม่ให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างเอง ที่โจทก์อ้างว่าหลังจากรับมอบงานงวดที่ 2 ที่ 3 แล้วโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อมาทำการก่อสร้างต่อไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมมาทำการก่อสร้างจึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและได้บอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยชอบนั้น เห็นว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 สัญญาหมดอายุในวันที่ 23 มกราคม 2523 แต่ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 ว่าโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการก่อสร้างต่อไป เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2524 ล่วงพ้นกำหนดตามสัญญานานมากแล้วแม้โจทก์จะแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบว่าได้ต่ออายุสัญญาจ้างให้จำเลยที่ 1 อีก 283 วัน เมื่อนับระยะเวลาที่ต่ออายุให้เข้าด้วยแล้วในวันที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 เข้าทำการก่อสร้างต่อไปก็ล่วงเลยเวลาที่จะเข้าทำการก่อสร้างแล้ว จำเลยที่ 1 ได้เสนอให้โจทก์ทำสัญญากันใหม่โจทก์ก็แจ้งว่าไม่สามารถทำสัญญาใหม่ได้ กรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาจ้างได้โดยมิใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญาตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 และจะถือว่าเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแต่ยอมให้ผู้รับจ้างทำการล่วงเลยกำหนดเวลาต่อไปซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมปฏิบัติได้เพราะมิใช่เรื่องสุดวิสัย ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หาได้ไม่ เพราะก่อนล่วงเลยกำหนดเวลาในสัญญาโจทก์ไม่ยอมให้จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินจำนวน9,220,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จทั้ง ๆ ที่ปรากฏว่าการที่จำเลยที่ 1ทำผิดสัญญา 3 เรื่องโจทก์ได้ให้จำเลยที่ 1 ชดเชยเงินและยอมรับงานงวดที่จำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาเรียบร้อยแล้ว และโจทก์เองเป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 1 หยุดการก่อสร้างจนล่วงเลยกำหนดเวลาในสัญญาและล่วงเลยกำหนดเวลาที่โจทก์ต่อสัญญาให้จำเลยที่ 1 แล้วนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น…”
“อนึ่ง จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาเพียงผู้เดียว เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหาย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ เมื่อคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความ แล้วเห็นควรให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามศาลรวม 120,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป
แม้สัญญาจ้างก่อสร้างข้อหนึ่งระบุว่า ถ้าผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่สัญญาข้อต่อไปได้ระบุว่าผู้รับจ้างสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและจัดทำงานที่ไม่ได้ทำไปโดยความซื่อสัตย์สุจริตและปรากฏว่าไม่ประณีตเรียบร้อยให้เรียบร้อยดีภายใน 15 วัน ดังนี้ หมายความว่าผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อสัญญากำหนดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างแก้ไขให้ถูกต้องไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขการก่อสร้างส่วนที่ผิดสัญญาให้ถูกต้องตรงตามสัญญาจนโจทก์ตรวจรับงานและชำระเงินค่าจ้างสำหรับงานงวดนั้นแล้ว โจทก์จึงไม่สามารถหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาเพียงผู้เดียวเมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหาย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา 247